โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ ตลอดจนความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายหน่วยงานจึงให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น โดยนำแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” มาออกแบบกระบวนการผลิตที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานและทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดการเกิดของเสียจนนำไปสู่การไม่มีของเสียเกิดขึ้นในที่สุด เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยนำวัตถุพลอยได้จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าหลังเผาเชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์ทั้งเถ้าลอย เถ้าหนัก และยิปซัมสังเคราะห์ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์แทนการฝังกลบ ซึ่งสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คอนกรีตและวัสดุก่อสร้าง ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดิน
จากเถ้าลอยไร้ค่าสู่คอนกรีตรักษ์โลก
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง แหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงปีละกว่า 12.7 ล้านตัน เกิดเป็นเถ้าขนาดเล็กที่เรียกว่า “เถ้าลอย (Fly Ash)” ที่ถูกดักจับโดยเครื่องดักจับฝุ่นไฟฟ้าสถิต ประมาณปีละ 1.7 ล้านตัน ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ. จะนำเถ้าลอยไปใช้เป็นส่วนผสมสำหรับงานก่อสร้าง อาทิ ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก งานซ่อมแซมฐานรากสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 งานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตบดอัดที่เขื่อนปากมูล ปัจจุบันมีผู้สนใจนนำเถ้าลอยไปใช้ในงานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ งานเทฐานรากอาคารขนาดใหญ่ งานก่อสร้างตอม่อรถไฟฟ้าและทางด่วน รวมไปถึงงานคอนกรีตทั่วไปและวัสดุก่อสร้างชนิดต่าง ๆ
แต่เนื่องจากถ่านหินลิกไนต์ที่นำมาใช้ในปัจจุบันมีค่าแคลเซียมออกไซด์ค่อนข้างสูง ส่งผลให้เถ้าลอยมีองค์ประกอบทางเคมีที่ไม่ผ่านเกณฑ์เชิงพาณิชย์และต้องนำไปกักเก็บด้วยการฝังกลบ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ล้านบาท
กฟผ. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) นำเถ้าลอยที่องค์ประกอบทางเคมีไม่ผ่านเกณฑ์เชิงพาณิชย์มาวิจัยและพัฒนาเป็น “คอนกรีตทางเลือก” ภายใต้แบรนด์ EGAT AshNova ซึ่งใช้เถ้าลอยทดแทนปูนซีเมนต์ได้สูงสุดถึง 100% สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของคอนกรีตและวัสดุในงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตบล็อกสำหรับก่อผนัง คอนกรีตตัวหนอนปูผิวทางเดินเท้า โดยมีคุณสมบัติพิเศษคือ กำลังรับแรงอัดสูง ทนทานต่อกรดและด่างสูง ช่วยลดต้นทุนการผลิตคอนกรีตลงได้
มจพ. และ กฟผ. ยังได้นำคอนกรีตทางเลือก EGAT AshNova นี้ ไปทดลองทำพื้นถนนบริเวณหน้าทางเข้าออกเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จากการใช้งานจริงตลอด 28 วัน พบว่า มีรถบรรทุกน้ำหนัก 20-50 ตัน ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกวันละหลาย ๆ เที่ยว โดยวัดค่ากำลังรับแรงอัดคอนกรีตได้สูงถึง 325 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่ากำลังรับแรงอัดที่ได้ออกแบบไว้
สภาพคอนกรีตมีความแข็งแรงและคงทน ลักษณะทางกายภาพเหมือนการใช้ปูนซีเมนต์ แต่มีสีที่เข้มกว่าเล็กน้อย อีกทั้งคอนกรีตทางเลือก EGAT AshNova ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 288 กิโลกรัมต่อการผลิตคอนกรีต 1 ลูกบาศก์เมตร หรือลดลงประมาณ 58% เมื่อเทียบกับการผลิตคอนกรีตจากปูนซีเมนต์และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ปัจจุบัน กฟผ. ได้นำคอนกรีตทางเลือก EGAT AshNova จากเถ้าลอยไปพัฒนาเป็นบล็อกตัวหนอน อิฐปูพื้นทางเท้า บล็อกช่องลม หมอนรองรางรถไฟคอนกรีตอัดแรง รวมถึงผลักดันให้เกิดการใช้งานในกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้นวัตกรรมคอนกรีตเพื่อความยั่งยืนและมุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานธุรกิจนวัตกรรมวัตถุพลอยได้ E-mail: chalermphol.s@egat.co.th หรือโทร 0 2436 7252
จากของเหลือทิ้งจากโรงไฟฟ้าสู่วัสดุที่สร้างประโยชน์ได้อีกครั้ง เป็นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบโจทย์แนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เดินหน้าสู่ความยั่งยืนอีกด้วย