ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เชื่อมั่น ศักยภาพบุรีรัมย์ สินค้าด้านเกษตร มีมูลค่าสูงและมีอนาคตที่สดใส
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ในโอกาสมาเป็นประธานพิธีปิดการอบรมหลักสูตรนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ Young FTI Buriram รุ่นที่ 2 ที่โรงแรม เครสโค จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ได้มาเป็นประธานปิดโครงการหลักสูตรรุ่นที่สองของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ประทับใจกับพลังของคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะในรุ่นนี้ เรามีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 55 ท่าน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม และทุกกลุ่มได้นำเสนอแผนธุรกิจภายใต้แนวคิดตามโครงการ “ช่วยเพื่อน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมาก
นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือพลังความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะหนุ่มสาวชาวบุรีรัมย์ที่นำเสนอแผนธุรกิจที่ใช้วัสดุเหลือใช้และเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า สร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ทั้งที่พวกเขาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และมาจากหลายสาขาอาชีพที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาสามารถรวมตัวกัน แบ่งปันประสบการณ์ และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีทีมเวิร์คที่ดีได้ นี่คือซอฟต์พาวเวอร์ของชาวบุรีรัมย์ และพลังของคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญไม่ใช่แค่ในจังหวัดบุรีรัมย์ แต่สำหรับประเทศต่อไป
“ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์มีขนาดของ GDP ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของภาคอีสาน ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการ ส่วนภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมยังค่อนข้างเล็ก แต่เชื่อว่าศักยภาพของบุรีรัมย์ในด้านเกษตร โดยเฉพาะในเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy) และสินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงและจะมีอนาคตที่สดใส โดยนโยบายของรัฐบาลก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่แล้ว
“เรากำลังดูถึงความสามารถของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมกำลังเริ่มนำร่องใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ยารักษาโรค อาหารเสริม เครื่องสำอาง อาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ และไบโอพลาสติก ซึ่งสามารถผลิตจากอ้อยและน้ำตาลได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใช้เส้นใย ซึ่งทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าบุรีรัมย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อย่างมาก” นายเกรียงไกร กล่าว
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจคือการนำเอามูลไก่จากการเลี้ยงไก่ในจังหวัด มาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถทดแทนการนำเข้าปุ๋ยเคมีได้และเมื่อผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรมจริง ผมเชื่อว่ามูลค่าสินค้าทางการเกษตรของเราจะสูงขึ้นตามไปด้วย
ด้านนายณัฐวุฒิ วนพงศ์ทิพากร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตามนโยบายของท่านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เราต้องมุ่งสร้างอุตสาหกรรมรุ่นใหม่และสร้างคนบุรีรัมย์ขึ้นมา เพื่อให้สามารถสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อแม่ หรือจาก อากง อาม่า การเชื่อมต่อกันนี้จะช่วยให้น้อง ๆ ได้สร้าง Connection และสายสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มคนต่างๆ นอกจากนี้ ถ้าเศรษฐกิจในเมืองดีขึ้นก็จะส่งผลดีต่อประเทศชาติด้วย
“ส่วนปัญหาหรืออุปสรรคก็มีอยู่บ้างตามธรรมชาติครับ แต่ น้อง ๆ คนรุ่นใหม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ได้ พวกเขาได้สร้าง Connection ได้รู้จักกัน ได้สร้างความสัมพันธ์และได้รับความรู้จากวิทยากรที่เชิญมา 20 ท่านเพื่อช่วยเติมเต็มเกี่ยวกับมุมมองใหม่ ๆ และทำให้พวกเขามองเห็นศักยภาพของบุรีรัมย์ในอนาคต” นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณัฐวุฒิ วนพงศ์ทิพากร กล่าวด้วยว่า ปัญหาหรืออุปสรรคที่มีอยู่ เราก็ต้องดำเนินตามนโยบายที่มี ถ้ามีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายหรือนโยบายใดๆ เราก็ต้องต่อสู้ไปด้วยกัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาความยากจนของชาวบ้าน ทุกอย่างต้องไปพร้อมๆ กัน และต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลในการสนับสนุนภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างราบรื่น