โดย...สมาน สุดโต
ในบรรดาสมเด็จพระสังฆราช 20 พระองค์ ของกรุงรัตนโกสินทร์(ถึงปัจจุบัน) มีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ( สา ปุสสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีคุณสมบัติพิเศษกว่าสมเด็จพระสังฆราชพระองค์อื่นๆในหลายประการ
1 เป็นสามเณร อายุ 14 ปี สอบเปรียญได้ 2 ประโยค (ตกประโยค 3) จึงเรียกว่า เปรียญวังหน้า
2 เป็นสามเณร องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สอบได้เปรียญ 9 ประโยค
เมื่ออายุ 18 ปี
3 เป็นองค์แรก ที่ลาสิกขาไปแล้วมาบวชใหม่ สอบ เปรียญ 9 ได้อีก จึงเป็นพระรูปแรกที่ได้ชื่อว่าพระมหา เปรียญ 18 ประโยค
4 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระราชทาน สมณศักดิ์ ชื่อ สาสนโสภณ นับเป็นองค์แรก ของชื่อนี้
5 เป็นสมเด็จพระสังฆราชเพียงองค์เดียว ที่ เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช 18 ประโยค
6 รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระ อริยวงศาคตญาณ ให้มีอิสริยยศเหนือกว่าสมเด็จพระราชาคณะอื่นๆ ก่อนที่จะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชตัวจริง
7 เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรก ที่มีสมณศักดิ์ ว่าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(รัชกาลที่ 3 เคยพระราชทานสมณศักดิ์นี้ แก่เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดสุทัศนเทพวราราม(เจ้าคุณพระธรรมไตรโลก( อู่ ) เดิมอยู่วัดเกาะ หรือสัมพันธวงศ์ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่สวรรคตเสียก่อน จึงไม่ได้รับการสถาปนา เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จครองราชย์ ทรงสถาปนา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมิ่นนุชิตชิโนรส อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน เป็นสมเด็จพระสังฆราช)
8 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส รับภาระสังคายนาพระไตรปิฎก เพิ่อพิมพ์เป็นอักษรไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก (แต่ก่อนจารเป็นอักษรขอมลงในใบลาน)
พระประวัติ
ชาติภูมิ เกิดที่ตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ประสูติ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำเดือน 8 ปีระกา ตรงกับวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ 2356 ในรัชกาลที่ 2
สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวัน ที่ 29 พฤศจิกายนพ.ศ 2436 ในรัชกาลที่ 5
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ 2442 ในรัชกาลที่ 5
สิริพระชันษา 87 ปี
รวมเวลาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช 5 ปี 1 เดือน 13 วัน
ที่มาเปรียญ 18
การที่มีชื่อว่าเปรียญ 18 ประโยคนั้น เพราะ สามารถสอบเปรียญ 9 ประโยคได้ 2 ครั้ง โดยครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่ยังเป็นสามเณรอายุ 14 ปี สอบได้แค่ 2 ประโยค ถือว่าสอบตก แต่เรียกว่าเปรียญวังหน้า)
เมิ่ออายุ 18 ปี สอบอีก ครั้งนี้ สามารถ สอบเปรียญ 3 -9 ได้ในคราวเดียวเท่านั้น จึงเป็นสามเณรองค์แรก องค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สอบได้เปรียญ 9 ประโยค
เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบท ที่วัดราชาธิวาส อยู่ที่วัดนั้น 4 พรรษา ได้ย้ายตาม พระวชิรญาณภิกขุ หรือสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏที่ย้านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่ออยู่วัดบวรนิเวศได้ 2 พรรษาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นเจ้าคุณพระอมรโมลี และอยู่ในตำแหน่งนี้ระยะหนึ่ง เกิดเบื่อหน่ายในสมณะเพศ จึงลาสิกขา(สึก)ไปเป็นฆราวาส ประกอบอาชีพ ที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิด
ต่อมาเมื่อพระวชิรญาณภิกขุ หรือสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ ทรงลาสิกขา ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ มีพระปรมาภิไธยว่าสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
จึงรับสั่งให้นำตัวทิดมหาสา มาเข้าเฝ้า และตรัสถามว่า อยากจะบวชอีกหรือไม่ ทิดมหาสา กราบทูลว่าขอบวชอีกครั้งหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงทรงอุปถัมภ์การบวชให้ที่อุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ฉายาว่า ปุสสเทโว (บวชครั้งแรกได้ฉายาว่า ปุสโส)
เมื่อบวชแล้วได้ขอ เข้าสอบบาลีอีกครั้งหนึ่ง สามารถสอบได้ รวดเดียวตั้งแต่ประโยค ป.ธ. 3 ถึงประโยคป.ธ. 9 (เป็นการสอบแบบโบราณ ที่ผู้สอบ ต้องแปลบาลีปากเปล่า ต่อหน้าพระเถระที่เป็นกรรมการ ที่คัดบาลีมาให้แปลเป็นประโยค หากสอบผ่าน ก็แปลประโยคต่อไป เรื่อยๆ บางท่านสอบได้ แค่ประโยค 2 หรือ 3 ประโยค แปลต่อไม่ผ่าน หากมีมานะพยายาม ปีต่อไปก็มาสอบต่อได้)
การสอบเปรียญ 9 ประโยคได้ 2 ครั้ง จึงเป็นที่มาของ สมเด็จพระสังฆราช เปรียญ 18 ประโยค