งบปี 2567 วงเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท เจอพิษเลือกตั้งรอรัฐบาลใหม่ ส่อแววล่าช้าใช้ไม่ทัน ทำเศรษฐกิจไทยลุ้นเหนื่อยหมดเงินกระตุ้น
เศรษฐกิจไทยตั้งแต่เจอพิษโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา อยู่ได้ด้วยเงินงบประมาณรายจ่ายปีละกว่า 3 ล้านล้านบาท และเงินกู้จาก พ.ร.ก.โควิดอีก 1.5 ล้านล้านบาท เป็นตัวหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ยืนขยายตัวพ้นวิกฤตมาได้ ซึ่งวันนี้ใช้ไปหมดแล้ว โดยเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องจากการส่งออก และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่เป็นรายได้ก้อนใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก่อนมีการระบาดของโควิด
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้า ก็ยังไม่น่าจะกลับไปเท่าเดิมก่อนเกิดโควิด ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยปีละ 40 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยมีการคาดกันว่าปีนี้อย่างเก่งการท่องเที่ยวจะกลับมาได้ครึ่งหนึ่งจากที่เคยได้สูงสุด
ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2566 ของโค้งท้ายของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องพึ่งเม็ดเงินกระตุ้นจากเงินงบประมาณ 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ 2,490,000 ล้านบาท ที่เหลือต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กรอบวงเงินเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2566
ดังนั้นงบประมาณ 2567 จึงเป็นแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจช่วงท้ายของปี 2566 ซึ่งกรอบวงเงินงบประมาณ 2567 จำนวน 3,350,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 593,000 ล้านบาท เนื่องจากประมาณการจะเก็บรายได้จำนวน 2,490,000 ล้านบาท ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย 2567 ประกอบด้วยประมาณการรายจ่ายประจำ จำนวน 2,508,990 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน จำนวน 690,000 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 33,759 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 117,250 ล้านบาท
โดยไทม์ไลน์ของงบประมาณ หลังจากผ่าน ครม. แล้ว ต้องมีการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาอีก 3 วาระ ให้เสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลใช้ได้ทันวันที่ 1 ต.ค. 2566 ซึ่งปัญหาไทม์ไลนดังกล่าวเกิดขึ้นทันที เมื่อต้องการมีการเลือกตั้งใหม่เนื่องจากรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 2566 นี้
ทั้งนี้มีการคาดการณ์กันว่าในทางเทคนิคการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ จะมีการประกาศยุบสภาก่อนครบวาระ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ประมาณวันที่ 7 พ.ค. 2566 หลังจากนั้นจะใช้เวลาฝุ่นตลบอีกเดือนกว่า ถึงจะมีการรวบเสียงตั้งรัฐบาลใหม่ได้ คาดว่าไม่เกินเดือนมิ.ย. 2566 จะรู้ว่าใครได้เป็นรัฐบาลใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
หลังจากนั้นต้องมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่ เหมารวมแล้วกว่ารัฐบาลชุดใหม่ทำงานได้จริงอย่างเร็วคือเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. 2566 ซึ่งทำให้มีเวลาอีก 1-2 เดือน เท่านั้นที่จะพิจารณางบประมาณ 2567 วงเงิน 3,350,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่รัฐบาลใหม่ และสภาผู้แทนราษฎรใหม่จะพิจารณางบประมาณใช้ได้ทันวันที่ 1 ต.ค. 2566
แน่นอนว่า หากงบประมาณล่าช้าจะไม่มีผลกระทบกับงบรายจ่ายประจำ การจ่ายเงินเดือนข้าราชการต่างๆ เนื่องจากฎหมายกำหนดว่า หากงบประมาณใหม่เสร็จไม่ทัน ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำให้ใช้ต่าง พ.ร.บ.งบประมาณเก่าไปพรางก่อนได้
แต่ปัญหาสำคัญคือ งบประมาณลงทุน จำนวน 690,000 ล้านบาท จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ที่จะอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในโค้งท้ายของปี 2566 เมื่องบอาจต้องสะดุด การกระตุ้นเศรษฐกิจจากเม็ดเงินจากงบประมาณทำได้ไม่เต็มที่ เป็นปัจจัยลบทำให้เศรษฐกิจสะดุดในทันที
หลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจ ทั้งของรัฐและเอกชน เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3-4% แรงหนุนจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ แต่ทุกฝ่ายก็เห็นตรงกันว่า การส่งออกไทยจะไม่ดีจากเศรษฐกิจโลกผันผวน การท่องเที่ยวไทยจะไม่ได้ตามเป้าเพราะการระบาดของโควิด และค่าเดินทางเครื่องบินที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว
และตอนนี้ตัวช่วยเศรษฐกิจที่เหลือ คือ เม็ดเงินจากงบประมาณกว่า 3 ล้านล้านบาท จะสะดุดล่าช้าไปอีก ทำให้เศรษฐกิจโค้งท้ายของปีนี้อ่อนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำให้ตอนนี้นักลงทุน นักธุรกิจ ได้แต่ลุ้นให้การเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้ไวที่สุด เพื่อมาผลักดันงบประมาณ 2567 ใช้ได้ทันตามกำหนด หรือหากจะช้าออกไป ก็ให้ช้าน้อยที่สุด เพราะหากล่าช้านานเกินไป จะไม่ส่งผลผลกระทบกับเศรษฐกิจปี 2566 เท่านั้น แต่จะลามไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2567 อีกด้วย