เสียงโหวตส.ว.ไม่เข้าเป้าได้แค่13 เสียงจาก 65 เสียงที่ต้องการทำ "พิธา"ชวดเป็นนายกฯรอบแรก
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี และเปิดให้มีการอภิปรายนั้นจากนั้นได้เปิดให้สมาชิกรัฐสภา ลุกขึ้นขานชื่อลงมติแบบเปิดเผยเป็นรายบุคคล 749 คน โดยมีองค์ประชุมรวม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม 216 คน ซึ่งใช้เวลาขานชื่อประมาณ 2 ชม. โดยผลออกมาเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ให้ระหว่าง 5 ปีแรกของรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องทำใน “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” ซึ่งหมายความว่า ส.ว. ทั้ง 250 คนจะมีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวคือ หากมี ส.ส.ครบเต็มสภา 500 คน และ ส.ว. 249 คน รวม 749 คน เนื่องจากส.ว.ลาออกไป 1 คน ก็จะต้องได้รับเสียงเห็นด้วย 375 เสียงขึ้นไป จึงจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามนส่วนของ พรรคฝ่ายค้านนั้นน่าสนใจว่า พรรคที่ โหวตไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 71 พรรคพลังประชารัฐ 40 พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 ในขณะที่ งดออกเสียง ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 25 พรรคชาติไทยพัฒนา 10 พรรคชาติพัฒนากล้า 2
สำหรับสมาชิกวุฒิสภาที่ลงมติเห็นชอบให้นายพิธาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 13 เสียง ประกอบด้วย 1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2. พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา 3. นายเฉลา พวงมาลา 4. นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล 5.พลตำรวจโท ณัฏฐ์วัฒก์ รอดบางยาง 6.นางประภาศรี สุฉันทบุตร 7. นายพิศาล มาณวพัฒน์ 8. นายพีระศักดิ์ พอจิต 9. นายมณเฑียร บุญตัน 10. นายวันชัย สอนศิริ 11. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 12. นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ และ 13.น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ