ส.ว.แย้มโหวตนายกฯ อาจไม่ได้มีแค่"พิธา" 

ส.ว.แย้มโหวตนายกฯ อาจไม่ได้มีแค่
ส.ว.แย้มโหวตนายกฯ อาจไม่ได้มีแค่ชื่อ "พิธา" ไล่ "8 พรรคร่วมฯ"หาให้ได้ 376เสียง  ได้เป็นรัฐบาลแน่ ซัด "แผนปฏิรูปกองทัพ" ลอกมาจากสหรัฐฯ

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. และในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา กล่าวถึงการเตรียมเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อมาให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงวันประชุมอาจจะไม่ได้มีแค่ชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกลเพียงคนเดียวก็ได้ อาจจะมีชื่ออื่นอีก อย่างไรก็ตาม มีหลักในการพิจารณาคือ คนที่จะเลือกต้องเป็นคนดี คนเก่ง คือดีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องเก่งด้วย ซึ่งเรื่องคนดี ก็คือ ดูว่าเป็นคนที่อยู่บนความถูกต้อง บนหลักกฎหมายหรือไม่ ทำอะไรอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ อยู่ในกรอบของศาสนาหรือไม่และอยู่ในหลักประเพณีอันดีงามของเราหรือไม่  สอง บุคคลนั้นทำอะไร คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ บ้านเมือง ผลประโยชน์ประชาชน เป็นหลักหรือไม่ และ สาม ต้องเป็นคนที่ยึดมั่นในหลัก ทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เมื่อถามว่าหากนายพิธา ไม่ได้รับเสียงโหวตถึง 376 เสียง กลุ่มที่สนับสนุน ก็จะบอกว่าเพราะส.ว.ไม่โหวตให้ พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวตอบว่า ตอนนี้ ใครๆ ก็โยนมาที่ส.ว. ซึ่งหากไม่ให้ถึงส.ว.คุณก็ไปรวมเสียงส.ส.กันมาให้ได้ถึง 376 เสียง แล้วส.ว.จะหยุดเลย ไม่ต้องลงมติโหวตเลย

“พวกคุณได้เป็นรัฐบาลแน่ 376 เสียง ทำได้ไหม พวกคุณไปเคลียร์กันเองสิ ไม่ใช่มาโยนให้ส.ว. และส่วนตัวก็ไม่เคยได้รับการติดต่อพูดคุยจากคนของพรรคก้าวไกล แต่อยากบอกว่าส.ว.เขามีวุฒิภาวะพอ ขอให้พวกคุณไปเคลียร์กันเอง เอาให้ได้สิ 376 เสียงส.ส. ถ้าคุณได้ 376 เสียง ส.ว.ไม่มีความหมายเลย” พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว  

เมื่อถามถึงว่าในฐานะเป็นอดีตนายทหาร มองนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่หาเสียงเรื่องปฏิรูปกองทัพ และทางพรรคประกาศว่าหลังเปิดสภาฯ จะเสนอร่างพรบ.แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเช่นยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยุบสภากลาโหม ยุบกอ.รมน. ยุบศาลทหาร มองอย่างไร พล.อ.อกนิษฐ์ ให้ความเห็นว่า เรื่องปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่ความคิดใหม่ เคยมีการปฏิรูปกองทัพมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2548-2549 มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องปฏิรูปกองทัพ ที่มีกรรมการเช่น พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผบ.สส. นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการ  เคยทำมาแล้ว และอยู่ระหว่างการปฏิรูป การลดกำลังพล ลดนายพล ลดหน่วย มันเป็นแผนระยะยาว ทำกันมาโดยต่อเนื่อง แม้กระทั่งการเกณฑ์ทหาร ที่ผ่านมา กองทัพ ก็มีการลดการเกณฑ์ทหารลงแล้วใช้มาตรการเพื่อจูงใจให้คนมาสมัครเกณฑ์ทหาร เราทำกันมาตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่ว่ากองทัพ ไม่เคยปฏิรูป

พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทัพ แต่โครงสร้างที่เขาเสนอมา คือการยกโครงสร้างของกองทัพสหรัฐอเมริกามาทั้งหมดเลย แบบนี้เรียกว่าปฏิรูปหรือไปลอกแบบ ถามว่าประเทศสหรัฐอเมริกา เขามีอายุมาเท่าไหร่ ก็ประมาณสองร้อยกว่าปี ก็เท่ากับมีกองทัพมาแค่สองร้อยปี แต่ประเทศไทยมีกองทัพมากี่ปีแล้ว ก็ตั้ง 700-800 ปี แล้วเขามีพระมหากษัตริย์หรือไม่ ตอนที่เริ่มมีกองทัพ ก็ไม่มี แต่ของเรา เรามีกองทัพมา 700-800 ปี เรามีพระมหากษัตริย์หรือไม่ เรามี และพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นจอมทัพไทย จนถึงปัจจุบันนี้ เราถึงมีการสวนสนาม สาบานตน สวนสนามราชวัลลภ

“เรามีกองทัพมา 700-800 ปี พระมหากษัตริย์ทรงนำทัพออกไปรบ ท่านทรงเป็นจอมทัพไทย ถามว่าถ้าคุณไปก็อปปี้โครงสร้างกองทัพสหรัฐฯมา แล้วจอมทัพไทยอยู่ตรงไหน คุณจะไปลิดรอนพระราชอำนาจท่านไหม เอาโครงสร้างสหรัฐฯมา แล้วท่านทรงยังเป็นจอมทัพไทยอยู่หรือไม่ ตอบผมหน่อย คนที่คิดอันนี้” พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุ

พล.อ.อกนิษฐ์ ย้ำว่า กองทัพมีการปรับตัวมาตลอด มีแผนที่เรียกว่า”แผนพัฒนากองทัพ” เรื่องที่เขาพูดมา กองทัพเขามีการทำมาแล้ว และกำลังทำอยู่ อย่างการให้ยุบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ทางประเทศสหรัฐอเมริกา เจอเคส เหตุวินาศกรรม 9/11 หลังเกิดเหตุ กองทัพสหรัฐฯมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ Homeland Security (กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ ( United States Department of Homeland Security) ก็เหมือนกับ กอ.รมน. ก็ตามหลังเราอีก แต่เราจะไปยุบ เขาไปศึกษามาหรือยังว่าบทบาท อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.ทำอะไรบ้าง อีกทั้ง กอ.รมน.ไม่ได้ขึ้นกับกองทัพ แต่ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี และหากจะยุบ แล้วมีหน่วยงานอื่นมารับงานแทนหรือไม่ คิดเอาอะไรมาแทนหรือยัง ไม่ใช่ว่ายุบแล้วหายไปเลย แล้วงานที่เขาทำอยู่ ใครจะมาทำ จะยุบหรือจัดบทบาท หรือจัดโครงสร้างใหม่

พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวอีกว่า เรื่องการลดกำลังทหาร ทางทหารเขาเรียกว่า “การปิดการบรรจุ” เขาไม่ได้ยุบหน่วย แต่เรียกว่า ปิดการบรรจุ เพราะการยุบหน่วย ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แล้วหากยุบ ถ้ามีศึกสงคราม จะจัดตั้งหน่วย ก็ต้องไปออกพระราชบัญญัติ เอากฎหมายเข้าสภาฯ เขาถึงใช้คำว่า ปิดการบรรจุ คือหากมีศึกสงคราม มีภัยเข้ามา ก็ค่อยบรรจุคนเข้าไป ไม่ใช่ยุบ อย่างบางหน่วย หากภารกิจซ้ำซ้อน ก็ปิดการบรรจุเสีย บางหน่วยไม่จำเป็น ก็ปิดการบรรจุ ไม่ใช่ไปยุบ  ถ้ายุบ แล้วหากมีสงครามขึ้นมา จะทำอย่างไร

TAGS: #พิธา #โหวตนายกฯ #ก้าวไกล #วุฒิสภา