กกต.โชว์ระบบ ETC Report รู้ผลเลือกตั้งไม่เกิน5ทุ่ม

กกต.โชว์ระบบ ETC Report รู้ผลเลือกตั้งไม่เกิน5ทุ่ม
กกต.โชว์ระบบ ETC Report รู้ผลคะแนนไม่เป็นทางการ ไม่เกิน 5 ทุ่ม วันเลือกตั้ง ยืนยันผู้สังเกตการณ์สามารถถ่ายภาพการนับคะแนนได้ ด้านไอลอว์รับสมัคร 'อาสาจับตาการนับคะแนน'

น.ส. สุรณี ผลทวี รองเลขาธิการ กกต. ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) NT และสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงข่าว ประชาสัมพันธ์ระบบการรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบ ECT Reportว่า ระบบการรายงานข้อมูลโดยจัดแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. ภาพรวมการนับคะแนนทั้งประเทศ 

2.ผลเลือกตั้งระดับเขตจังหวัด

3.ผลเลือกตั้งรายพรรคที่มีคะแนนนำ 5 พรรค

รวมถึงข้อมูลคะแนนบัญชีรายชื่อพร้อมประมวลผลเป็นเปอร์เซ็นต์ ว่าผลการนับคะแนนมีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน โดยคาดว่าคะแนนเเรกที่จะรายงานได้ ช่วงประมาณ 19.00 น. มีการอัพเดตข้อมูล หลังจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีการติดใบรายงานผลการนับคะแนนส.ส แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (ส.ส.5/18) ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง และถ่ายภาพส่งให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกข้อมูลเข้ามาในถังข้อมูล ก็จะมีการนำมาประมวลผลเพื่อรายงาน ซึ่งยอมรับว่า เป็นระบบที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ หลายคนอาจจะกังวลเรื่องของความผิดพลาด ซึ่งแน่นอนว่าเกิดขึ้นได้ ก็มีการจัดเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล 1 ชุดมี 2 คน รับผิดชอบไม่เกิน 20 หน่วย เพื่อป้องกันความอ่อนล้า ตาลาย

ทั้งนี้ทาง กกต.ขอยืนยันว่า จะมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน โดยจะนำจำนวนคะแนนทั้งบัตรดี บัตรเสีย และบัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนมารวมกันเพื่อเปรียบกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ ก่อนจะนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อให้ สวข. นำข้อมูลไปเผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์ต่อไป

กกต. ยังเตรียมแนวทางการรองรับระบบที่อาจล่มเอาไว้ด้วย โดยเตรียมระบบสำรองเพื่อรองรับการเข้ามาใช้งานสูงถึงประมาณ 1,000,000 ยูสเซอร์ต่อนาที รวมถึงมีการอ้างอิงข้อมูลจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีคนเข้าใช้งานในระบบมากกว่า 600,000 ยูสเซอร์ มาเป็นบทเรียนในการปรับปรุงระบบรายงานผลการเลือกตั้งในปีนี้• นอกจากนี้ สวข.ยังได้ชี้แจงอีกว่า ระบบ ECT Report จะเปิดให้กับประชาชน และสื่อมวลชนได้เข้าไปใช้งานได้ภายในวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ กกต.ยังยืนยันว่า ไม่ว่าจะทำข้อมูลผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแบบคู่ขนาน หรือเชื่อมข้อมูลจากทางระบบ ก็จะสามารถมีช่องทางเพิ่มเติมให้กับประชาชนในการติดตามผลเลือกตั้งได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาในเว็บไซต์อย่างเดียวจนอาจทำให้มีผู้ใช้งานมากจนเกินไป

ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ยืนยันว่า การนับคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ทุกคนสามารถถ่ายรูปหรือถ่ายวีดีโอการนับคะแนน หรือกระดานรวมผลคะแนนได้ หรือถ่ายภาพบรรยากาศการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องไม่ไปรบกวนการทำงานของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ และไม่ถ่ายรูปบัตรลงคะแนนที่ทำเครื่องหมายแล้ว

ด้านนายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ระบุว่า ระเบียบเดิมอาจห้ามบันทึกภาพหรือวีดีโอจัดการเลือกตั้ง แต่ระเบียบใหม่ไม่มีข้อห้ามนี้อีกต่อไป ประชาชนและผู้สังเกตการณ์ทุกคนจึงสามารถทำได้โดยไม่มีกฎหมาย ตราบใดที่ไม่ถ่ายบัตรเลือกตั้งที่กาคะแนนแล้ว เพื่อรักษาหลักการว่า การลงคะแนนของประชาชนแต่ละคนต้องถูกเก็บไว้เป็นความลับ

นอกจากนี้ ในระหว่างที่กรรมการประจำหน่วยนับคะแนน ประชาชนหรือผู้สังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้ง สามารถทักท้วงการนับคะแนน การขานคะแนน และการขีดคะแนนได้ หากพบว่ามีความผิดพลาด เพื่อให้มีการแก้ไขทันที เพื่อรักษาความถูกต้องของผลการเลือกตั้ง

หากพบว่าการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นไม่ถูกนับอย่างถูกฎหมาย หรือมีการนับที่ผิดระเบียบการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำท้วงกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยต้องบันทึกคำทักท้วงและการวินิจฉัยลงไปใน 'บันทึกเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง' หรือ 'ใบ ส.ส. 5/6' พร้อมลงชื่อผู้ทักท้วง , ลงชื่อกรรมการประจำหน่วย ไม่น้อยกว่า 5 คน และลงชื่อพยานอีกอย่างน้อย 2 คน หากไม่มีบุคคลเป็นพยาน ต้องเขียนเป็นหมายเหตุไว้ในใบดังกล่าวด้วย เพื่อให้การทักท้วงทุกอย่างมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริง และสามารถนำไปใช้ยืนยันในกระบวนการทางกฎหมายภายหลัง

ด้านไอลอว์ (iLaw) เชิญชวนประชาชนร่วมเป็นอาสาสมัครจับตาการเลือกตั้ง โดยร่วมกันสังเกตการณ์การนับคะแนนหลังปิดคูหาเวลา 17.00 น. ทักท้วงความผิดปกติหากพบเห็น เพื่อรักษาความถูกต้อง และถ่ายรูปใบผลคะแนนรวมของแต่ละหน่วยเลือกตั้งกลับมาให้ไอลอว์ช่วยกันนับคะแนน โดยรูปถ่ายที่ต้องการมีดังนี้

1. ป้ายไวนิลที่ระบุสถานที่ตั้งของหน่วยและเขตเลือกตั้ง (ป้ายประจำหน่วย)

2. กระดาษขีดคะแนนทุกใบของหน่วยนั้น

3. ใบรวมผลการนับคะแนน จะถูกแปะบนหน้าหน่วย

โดยประชาชนที่อาสาเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งหลังปิดหีบ สามารถสมัครและสอบถามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ vote62.com 

พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ได้วางแนวทาง กำชับการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และการเตรียมพร้อมดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ พร้อมกำชับให้ข้าราชการตำรวจจะต้องวางตัวเป็นกลาง การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้กฎ ระเบียบ และกฎการเลือกตั้ง โดยให้ทุกหน่วยดำเนินการอบรมให้ความรู้ด้านข้อกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยเลือกตั้งทุกนายทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ศลต.ตร. ได้ดำเนินการดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในทุกภารกิจตามอำนาจหน้าที่ และตามที่ได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้แก่ ภารกิจในการขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงการดูแลความเรียบร้อย และการอำนวยความสะดวกการจราจร ในการเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผลการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยในทุกภารกิจ

และในวันเลือกตั้ง ส.ส.วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกการจราจร ทั้งนี้ ศลต.ตร. ได้ดำเนินการดูแลความปลอดภัยภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้งไปหน่วยต่างๆ ทั่วประเทศ เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

ส่วนการระดมกวาดล้างอาชญากรรมช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น ได้กำชับให้ทุกพื้นที่ดำเนินการอย่างเข้มข้น จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ สำหรับเหตุที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ศลต.ตร. สรุปล่าสุด มีทั้งหมด 181 เหตุ แบ่งเป็น เหตุเกี่ยวกับการทำลายป้ายหาเสียง จำนวน 141 เหตุ และเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จำนวน 40 เหตุ ซึ่งเหตุอื่น ๆ 40 เหตุนั้น มีการจับกุม/แจ้งข้อหาแล้ว 20 เหตุ อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวน 13 เหตุ ลงบันทึกประจำวัน/ไม่ดำเนินคดี 7 เหตุ ทั้งนี้ พลตำรวจเอก รอย ได้กำชับในการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมความพร้อมดูแลการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้อย่างเคร่งครัด


 

TAGS: #กกต. #เลือกตั้ง66 #เลือกตั้ง2566 #ETC #Report