นักวิชาการจี้รัฐใช้ 4 กลไกระหว่างประเทศ สร้างความชอบธรรมให้ไทย – วางหมากหากข้อพิพาทชายแดนลุกลามป้มชายแดนกัมพูชา
นายธนภัทร ชาตินักรบ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า แม้กองทัพบกจะออกมายืนยันว่าทุ่นระเบิดดังกล่าวจะเป็นของใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลและความไม่พอใจในสังคมไทย แต่สถานการณ์ในขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงและตรวจสอบทางเทคนิค จึงควรดำเนินการด้วยความรอบคอบตามกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในอนาคตหลังจากนี้ ไทยจะยังได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ
“สิ่งที่รัฐบาลควรต้องเร่งดำเนินการตอนนี้ คือการใช้กลไกต่างประเทศในทุกช่องทางที่มีเพื่อสร้างภาพความชอบธรรมของการที่ไทยเป็นผู้ถูกรุกราน หลังจากที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาพยายามสื่อสารต่อเวทีโลกว่ากัมพูชาถูกไทยรุกรานมาโดยตลอด ซึ่งไม่เป็นความจริง พูดตามตรงว่าขณะนี้ยังไม่ปรากฏท่าทีชัดเจนจากรัฐบาลในสื่อสารกับประชาชนหรือประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศและการประสานงานกับองค์การระหวางประเทศ” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว
นายธนภัทร กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรเริ่มต้นเร่งดำเนินการทันที คือดำเนินการตามขั้นตอนอนุสัญญาออตตาวาโดยรวบรวมพยายานหลักฐานต่างๆ ให้ชัดและส่งไปยังที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา พิจารณาจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งถึงเวลาที่รัฐบาลควรส่งได้แล้ว และสิ่งที่ควรดำเนินการขนาบข้างกันไปคือการเรียกร้องผ่าน UN โดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจําสหประชาชาติ ทั้งที่นครนิวยอร์กและนครเจนีวา ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการสามารถเดินหน้าได้แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) วาระปี 2568 – 2570 ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขับเคลื่อนได้เช่นกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับทหารไทย 3 นาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน
นายธนภัทร กล่าวอีกว่า นอกจากการแจ้งผ่านหน่วยงานที่เป็นทางการแล้ว ไทยยังสามารถแจ้งไปยังองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับนานาชาติที่ชื่อว่า องค์กรรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อการห้ามทุ่นระเบิด (International Campaign to Ban Landmine หรือ ICBL) ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งเมื่อปี 1992 เพื่อยุติการผลิต การสะสม การใช้ และการส่งออกทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาออตตาวา ซึ่งเป็นองค์กรที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่คอยตรวจสอบและรายงานการละเมิดการใช้ทุ่นระเบิดจากประเทศต่างๆ ซึ่งไทยสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยัง ICBL ได้เช่นกัน
“การใช้ทั้ง 4 กลไกระหว่างประเทศในช่วงเวลานี้ ไม่เพียงเป็นการตอบสนองเชิงรับต่อเหตุการณ์ทุ่นระเบิด แต่ยังเป็นการวางหมากทางยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างสถานะของไทยในฐานะรัฐที่ยึดมั่นในหลักสันติวิธีและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ในเวทีโลก หากข้อพิพาทชายแดนขยายตัวในอนาคต ไม่ว่าจะในรูปแบบการทูตหรือข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ไทยได้แสดงออกถึงความร่วมมือกับกลไกระหว่างประเทศ เช่น การแจ้งต่ออนุสัญญาออตตาวา การสื่อสารผ่าน UN และ UNHRC หรือการอาศัยเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับโลก จะช่วยทำให้ไทยมีความชอบธรรมสูงกว่าในสายตาประชาคมโลก พร้อมลดน้ำหนักข้อกล่าวหาของกัมพูชา และช่วยให้ไทยเป็นฝ่ายกำหนดกรอบการพูดคุยในอนาคต แทนที่จะต้องคอยตอบโต้หรือแก้ตัวอยู่เพียงฝ่ายเดียว” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว
นายธนภัทร กล่าวด้วยว่า การสื่อสารอย่างชัดเจนจากฝ่ายนโยบายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนและพันธมิตรระหว่างประเทศ ส่วนตัวเห็นว่าการแถลงของกองทัพเป็นไปในแนวทางที่พยายามอธิบายข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของหลักการและข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ได้อย่างเหมาะสม พร้อมยืนยันถึงการยึดหลักสันติวิธี และปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยและเกียรติภูมิของชาติด้วยความรอบคอบเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสายตาสังคมโลก
สำหรับถ้อยแถลงของกองทัพได้ชี้ว่า พบทุ่นระเบิดใหม่ในฝั่งไทย และอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นแนวทางตามกระบวนการปกติในการนำเสนอข้อมูลต่อองค์การระหว่างประเทศ เช่น UN เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและขอให้มีการติดตามประเด็นนี้ในระดับระหว่างประเทศต่อไป