ปชน. ค้าน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซัด อุดหนุนให้นายทุน ตั้งราคาลอยๆ อย่างไร้ฐานคิด ย้ำจุดยืน "ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน" ค่าโดยสารร่วม 8-45 บาท
เพจเฟซบุ๊กพรรคประชาชน โพสต์ข้อความ ระบุว่า เอาให้ชัด! จุดยืนพรรคประชาชน #ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน
ตามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศจะทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2568 นี้
พรรคประชาชนเห็นด้วยว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีราคาแพง ควรถูกปรับลดเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
แต่เราไม่เห็นด้วยกับวิธีการของพรรคเพื่อไทยที่ใช้เงินของรัฐ ซึ่งก็คือเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศ ไปอุดหนุนให้นายทุนรถไฟฟ้าอย่างไร้ฐานคิด กล่าวคือรัฐบาลไม่ทราบต้นทุนของรถไฟฟ้าแต่ละสายด้วยซ้ำ แต่กลับตั้งราคาขึ้นมาลอยๆ ที่ 20 บาท
การทำแบบนี้ส่งผลให้ 1) รัฐต้องทุ่มเงินอุดหนุนจำนวนมาก ที่สุดท้ายเข้ากระเป๋านายทุนรถไฟฟ้าเต็มๆ 2) เป็นนโยบายที่คิดไม่ครบ ใช้งบประมาณจำนวนมากโดยละเลยผู้ใช้รถเมล์ซึ่งมีความยากลำบากและฐานรายได้ต่ำกว่าผู้ใช้รถไฟฟ้า 3) ขาดความยั่งยืน นโยบายนี้ต้องลุ้นแบบปีต่อปี เพราะไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลต่อไปจะทำต่อหรือไม่
ข้อเสนอพรรคประชาชน คือการทำค่าโดยสารร่วม 8-45 บาท รวมระบบรถไฟฟ้าและระบบรถเมล์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เสนอโดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งตอนนี้ผ่าน กมธ. แล้ว กำลังรอเข้าสภาวาระที่ 2
ข้อดีของ “ค่าโดยสารร่วม” (Common Fare) คือผู้เดินทางไม่ต้องจ่าย ‘ค่าแรกเข้า’ ซ้ำซ้อน สามารถเดินทางข้ามสายหรือข้ามระบบ (เช่นจากรถไฟฟ้าไปรถเมล์) อย่างไร้รอยต่อ เช่น ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 5 สถานี ต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 5 สถานี ต่อด้วยรถเมล์จนถึงจุดหมาย ทั้งหมดนี้ราคาไม่เกิน 45 บาท
อีกสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นหากร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ของพรรคประชาชนผ่านสภาฯ คือจะมี “ตั๋วร่วม” (Common Ticket) หรือตั๋วใบเดียวที่ใช้ได้ทุกขนส่งสาธารณะเพื่อความสะดวก ประชาชนไม่ต้องลงทะเบียนผ่านแอปฯ ให้วุ่นวายยุ่งยาก เช่นเดียวกับกรุงลอนดอนที่มีบัตร Oyster สิงคโปร์มีบัตร EZ-Link ฮ่องกงมีบัตร Octopus
คำถามที่หลายคนอาจสงสัย…
ราคา 8-45 บาทมาจากไหน?
พรรคประชาชนคิดบนพื้นฐานสัญญาสัมปทานที่ผูกพันกับรัฐในปัจจุบันที่คิดเป็นเที่ยว (8-25 บาทสำหรับรถเมล์ และ 15-45 บาทสำหรับรถไฟฟ้า) แต่ช่วยคนที่ลำบากจริงๆ คือต้องเดินทางหลายเที่ยวก่อน โดยกำหนดเพดานสูงสุดที่ 45 บาท (เหมือนเดินทางเที่ยวเดียว แม้ต้องขึ้นรถไฟฟ้าหลายสาย ขึ้นรถเมล์หลายต่อ)
นโยบายพรรคประชาชน รัฐต้องอุดหนุนด้วยไหม?
รัฐอุดหนุนแต่ไม่เหมือนกับพรรคเพื่อไทย (ที่อุดหนุนตรงไปที่นายทุนใหญ่รถไฟฟ้า) โดยในนโยบายพรรคประชาชนคาดว่าใช้ 7,000 ล้านบาทต่อปี เงินอุดหนุนส่วนมากไปช่วยระบบรถเมล์ซึ่งฐานผู้ใช้มีรายได้น้อยกว่ารถไฟฟ้า และในส่วนรถไฟฟ้า ไม่เอื้อนายทุนเพราะอยู่บนฐานของสัมปทานเดิม (15-45 บาท) เพียงแต่ช่วยอุดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเพราะถือเป็นความผิดของรัฐไทยในอดีตที่มองปัญหาเป็นสายๆ แบ่งเค้กเป็นรายๆ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
พรรคประชาชนออกแบบนโยบาย “ค่าโดยสารร่วม 8-45 บาท รวมระบบรถไฟฟ้าและระบบรถเมล์” เพื่อแก้ปัญหาที่โครงสร้าง คิดครบรอบด้านเพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารทุกกลุ่มภายใต้แนวคิด #ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน โดยจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเพื่อช่วยคนที่เดือดร้อนจริงๆ มากหน่อย ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบปะผุ โปรยไปทั่วให้เหลือ 20 บาท แต่แท้จริงคือการประเคนผลประโยชน์ให้นายทุนรถไฟฟ้า ที่มีความสนิทสนมกับนายใหญ่ในรัฐบาล
เราเชื่อมั่นว่านโยบาย “ค่าโดยสารร่วม 8-45 บาทตลอดทาง” จะสร้างระบบขนส่งสาธารณะ ที่ไม่ได้มีแค่รถไฟฟ้า ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก มีค่าโดยสารที่เป็นธรรม เงินทุกบาททุกสตางค์จากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ถูกใช้อย่างสมเหตุสมผลและมีความยั่งยืน