“ภูมิธรรม” ชี้ศาลปกครอง ไม่ได้สั่ง “นายกฯ-คลัง” บี้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าวหมื่นล้าน เพียงแต่ต้องดูภาพรวม มองศาลฯ ชี้คลังคำนวนตัวเลขผิดพลาด-ระบายข้าวล็อตสุดท้าย เป็นข้อต่อสู้ ลดค่าเสียหาย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผย กรณีศาลปกครอง ชี้แจงข้อกฎหมายคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ให้ชดใช้ค่าสินไหมโครงการจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลปกครองไม่ได้สั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์จ่าย แต่เป็นการเพิกถอนคำสั่งกระทรวงคลังส่วนที่ให้จ่ายเกิน 10,028 ล้านบาทนั้น
นายภูมิธรรม ระบุว่า ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นโจทก์ ในการยื่นเรื่องเสนอศาลปกครอง เพราะเห็นว่า การกำหนดรายละเอียดงบประมาณต่าง ๆ ไม่มีความชัดเจน และเมื่อศาลฯ ได้ดูรายละเอียด และมีคำตัดสินออกมา จากต้องชดใช้ค่าสินไหมโครงการรับจำนำข้าวที่ 3.5 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 10,000 กว่าล้านบาท เนื่องจากคิดไม่ตรง และเกิดความผิดพลาด แต่ศาลฯ ไม่ได้สั่งบังคับว่า จะต้องไปจ่ายอะไร ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า การคำนวนตัวเลขค่าใช้จ่าย มีความผิดพลาดตั้งแต่แรกที่กำหนดมา แสดงให้เห็นว่า มีปัญหา จึงมีช่องให้พิจารณา
นอกจากนี้สิ่งที่เป็นหลักฐาน ในยุคที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และมีการตรวจสอบข้าว 10 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ตนสามารถขายข้าวได้กิโลกรัมละ 18 บาท จึงเป็นคำถามว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการขายข้าวในราคา 3-5 บาทต่อกิโลกรัม ก็ต้องไปพิสูจน์กันว่า ข้าวเสียได้อย่างไร ในเมื่อข้าว 10 ปียังขายได้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า มีความคลาดเคลื่อนพอสมควร วิธีบริหารจัดการ
นายภูมิธรรม ระบุอีกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้สำหรับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ตอนนี้ ทนายความกำลังยื่นข้อมูล ซึ่งอาจจะนำหลักฐานจากที่ตนได้ดำเนินการไปประกอบให้ศาลฯ พิจารณาว่า เป็นข้อมูลใหม่ เพื่อพิจารณาหักลบค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องว่า ไปตามกระบวนการ ในขณะที่กระทรวงการคลัง ก็มีหน้าที่ในการกำหนดข้อมูล และฟ้อง ส่วนนายกรัฐมนตรี โดยตำแหน่งในฐานะที่มีปัญหาเกิดขึ้นภายในภายในประเทศ ก็ต้องกำกับดูแล แต่ศาลฯ ไม่ได้สั่งให้นายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงการคลังดูแล
เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลขายข้าวไปก่อนหน้านี้สามารถนำไปชดเชยกับค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า หากคิดตัวเลขผิด ยอดเรียกค่าเสียหายก็ไม่ถึง และช่วงหลังที่ขายข้าวได้ราคาดีกว่า ค่าเสียหายก็ต้องลดลงไปอีก ซึ่งจะเห็นได้ว่า ที่ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาตัวเลขหายไปกว่า 20,000 กว่าล้านบาท
เมื่อถามว่า การขายข้าวที่อยู่ในราคา 3-5 บาทจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า ขายต่ำกว่าราคา นายภูมิธรรม ระบุว่า อยู่ในดุลพินิจของศาลฯ ที่จะมองประเด็นนี้อย่างไร หากถามว่า พิสูจน์ได้หรือไม่ว่า ขายในราคาต่ำกว่า ก็ต้องดูว่า ในอดีตสื่อฯ พยายามขอเข้าไปดูโกดังข้าว แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงต้องดูว่า ทนายความไปยื่นเรื่องในเงื่อนไขประเด็นใด
เมื่อถามว่า ตามหลักการแล้ว เมื่อทนายความไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลฯ ใหม่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ต้องรอให้ทุกอย่างจบกระบวนความ ก่อนดำเนินการใด ๆ หรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า ต้องเห็นรายละเอียดทั้งหมดก่อน และมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่หรือไม่ ซึ่งตนมองว่า ต้องรอให้ครบกระบวนการทั้งหมดจะดีกว่า
อย่างไรก็ตามนายภูมิธรรมระบุว่า จำไม่ได้ว่าตัวเลขขายข้าวจำนวน 18 ล้านตันเป็นจำนวนเงินเท่าใด
เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดผู้กระทำความผิดเรื่องเหมืองทองอัครา และเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ ถึงไม่ต้องดำเนินการอะไร นายภูมิธรรม ระบุว่า แม้จะเป็นหน้าที่ตน ก็ต้องดูก่อน ขณะนี้ตนยังไม่ตัดสินใจอะไร และต้องมีการชี้แจง ซึ่งผิดหรือไม่ ก็ยังไม่รู้ เพราะศาลฯ ยังไม่ได้ตัดสิน แต่หากมองประเด็นเรื่องนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นมาตรฐาน ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นเรื่องเชิงนโยบาย หากผู้ที่ทำนโยบายตามที่ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งมา และไปเอาผิดกับผู้คุมนโยบาย ก็มีหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็น เช่น คดีของตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ก็มีความเกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า หลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะกล้าผลักดันนโยบายหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรามีความมั่นใจว่า นโยบายทุกอย่างผ่านการคิด และกลั่นกรอง และจะผลักดันอย่างเต็มที่ ในแต่ละเงื่อนไข และสถานการณ์ ที่มีมีความจำเป็นจะต้องปรับ แต่สิ่งที่เราแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเป็นแนวในการปฏิบัติ หากจะติดขัดอะไรก็ต้องแสดงให้เห็นว่า เรามีความตั้งใจ และมีเหตุผลในการเปลี่ยน
เมื่อถามว่า ตามหลักการในฐานะเป็นผู้คุมนโยบาย หากทำให้เกิดความเสียหาย จะต้องมีส่วนในการชดใช้ หรือไม่ต้องรับผิดชอบ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อยู่ที่ศาลฯ หากระบุว่า ควรกำหนดนโยบาย มีความไม่ชอบมาพากล หรือเจตนาแฝง อาจจะต้องรับผิดชอบ แต่กรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นความเสียหายในกระบวนการบังคับใช้ หรือการปฏิบัติเรื่องการระบายข้าว ก็ไม่ควรจะเกี่ยวกับผู้บริหาร หรือผู้คุมนโยบาย แต่ยอมรับว่า มันเกี่ยวพันกัน และมีกระบวนการคิดที่ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อศาลฯ พิจารณาแล้วก็ต้องเคารพดุลพินิจ ยกเว้นว่า มีข้อมูลใหม่ว่า การตัดสินนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อน