" กัณวีร์ " ติง รัฐบาลนิ่งเฉย ไม่เร่งหาข้อมูล " เมียนมา - รัสเซีย " สร้างโรงนิวเคลียร์ใกล้ไทย ห่วงประเทศเสียหาย
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งคำถามกับรัฐบาล โดยระบุว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใกล้ฉัน รัฐบาลไทยรู้ยัง?!เมียนมากับรัสเซีย กำลังจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทวายติดกับไทย
โปรดอ่านและพิจารณาเนื้อหานี้อย่างใจที่ไม่อคติและวางอยู่บนผลประโยชน์ของชาติกันครับ
ข่าวเรื่องโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ทางทหารเมียนมาอนุญาตให้ทางรัสเซียมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ถึง 2 แห่ง ที่มีขนาด 110 เมกะวัตต์ นั้น เป็นเรื่องที่ทางไทยได้รับผลกระทบตรงๆ และเต็มๆ จะอยู่นิ่งไม่ได้เด็ดขาด!
ผมยังจำได้สมัยยังรับราชการ ตอนนั้นทำเรื่องเมียนมา มีเรื่องหนึ่งเข้ามาให้วิเคราะห์ คือเรื่องแร่ยูเรเนียมในพื้นที่ชายแดนของเมียนมาที่ติดกับฝั่งไทย ผมยังจำความได้ว่า ผมเริ่มหาข้อมูลเชิงลึก แล้วพบว่าเกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับทหารเมียนมาในการนำคนเมียนมา (นักวิทยาศาสตร์ทหารเมียนมา) ไปศึกษาด้าน Nuclear Studies and Research ที่รัสเซีย เพื่อทำการแลกเปลี่ยนระหว่างการศึกษาวิจัยและการเข้ามาสำรวจหาแร่ยูเรเนียมในเมียนมา
ตอนนี้มันไม่มีชั้นความลับใดๆ ทั้งสิ้นครับ เพราะ KNU กองกำลังชาติพันธุ์กระเหรี่ยง เพิ่งส่งจดหมายเปิดผนึก เตือนทุกคนโดยเฉพาะไทยว่า KNU กองพลที่ 4 จะเข้าทำการโจมตีฐานทหารเมียนมาในเขตทวาย ภูมิภาคตะนาวศรีที่ติดกับประเทศไทย เพราะทหารเมียนมาได้มอบสัมปทานให้รัสเซียมาทำโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และอีกที่หนึ่ง คือเขตพะโค และนี่แหละคือจุดสำคัญ!
ลองคิดตามนะครับ เรื่องความมั่นคงนิวเคลียร์ที่อยู่ติดกับไทย รัสเซียจะนำสิ่งอันตรายอันนึงของ Weapon of Mass Destruction (WMD) เข้ามาวางที่ประตูของไทย ถึงแม้ว่าใครจะบอกว่าเค้าเข้ามาสร้าง “โรงไฟฟ้า” เฉยๆ และมันก็เป็นพลังงานสะอาดซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากๆ
แต่มุมมองการต่างประเทศด้านความมั่นคง และช่วยมองการเคลื่อนย้ายฐานผลิตไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า หรืออาวุธที่จะมาวางไว้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัสเซียมีศักยภาพ เมียนมามียูเรเนียม ทั้ง 2 ประเทศมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันเรื่องนี้อย่างน้อยก็มากกว่า 20 ปี แล้วอย่างแน่นอน เพราะผมรับราชการแล้ววิเคราะห์เรื่องนี้เมื่อปี 2546
หากนี่จะเป็นแค่โรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว ใครสามารถให้ความมั่นใจได้ว่ามันจะมีมาตรฐานเพียงพอกับการเก็บกักรักษามิให้มีสารเล็ดลอดออกมาสร้างผลกระทบต่อภายนอกได้ ? เรื่องความปลอดภัยต้องตกมาอยู่ที่ทหารเมียนมา ซึ่งทหารเมียนมามีศักยภาพเพียงพอมากแค่ไหน ? ใครจะรับผิดชอบหากเล็ดลอดเข้ามาในไทยบริเวณชายแดน ?
เราทราบดีว่ารอยเลื่อนของแผ่นดินที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมันอยู่ที่ใจกลางเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมาต้องย้ำเตือนพวกเราให้ดีนะครับว่ามันสั่นจากเขตสะกายและมัณฑะเลย์ใจกลางเมียนมาถึงใจกลางประเทศไทยทำให้ตึกที่กำลังสร้างใน กทม. ถล่มได้ บ้านเมืองเสียหายนับพัน หากมันเกิดขึ้นอีกแล้วโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ขนาด 110 เมกะวัตต์ อะไรจะเกิดขึ้น ? และมันจะเกิดขึ้นแน่ๆ ครับ !
ถ้าสร้างกันจริงกระแสความมั่นคงการทหารและนิวเคลียร์โลกจะถูกย้ายจุดมาเพ่งเล็งที่ภูมิภาคเรา และหากเมียนมาไม่สามารถมีความมั่นคงทางการเมืองได้ในเร็ววัน และเผด็จการยังคงครองอำนาจอยู่เหมือนปัจจุบัน รับรองครับ !!ไทยต้องมีปัญหาทางด้านการทหาร และต่อไปหากสงครามใดๆ ในโลกนิวิบัติขึ้นและเกี่ยวข้องกับรัสเซีย เมียนมาจะเป็นฐานขุมพลังในการปะทะกันในสงครามระหว่างประเทศด้านนิวเคลียร์ และไทยคงไม่รอดจากผลกระทบจากสงครามนิวเคลียร์เป็นแน่
เมื่อ 20 ปี ก่อนผมยังจำสีหน้าของ จนท.การข่าวของออสเตรเลีย ที่เป็น counterpart ของผม เพื่อนผมบอกเรื่องยูเรเนียมในเมียนมาและความร่วมมือระหว่างเมียนมากับรัสเซียได้อย่างดีครับ เค้าให้ความสำคัญอย่างมาก ทำรายงานตรงไปที่แคนเบอร่า รายงานเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย เค้าตามไม่ปล่อยเรื่องนี้จนกระทั่งปัจจุบันเค้าเป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานของเค้า
ครั้งนี้คงเป็นของจริง ประสบผลตามความมุ่งหมายของความร่วมมือมากกว่า 2 ทศวรรษ มิน อ่อง หล่าย เดินทางไปรัสเซียอยู่บ่อยๆ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่พูดคุยเพื่อการแลกเปลี่ยนอย่างแน่นอน เครื่องบินรบมิโคยัน หรือ มิก-29 ของรัสเซียที่บินว่อนทิ้งระเบิดรอบประเทศเมียนมา ก็เป็นหนึ่งในดีลการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศนี้อย่างแน่นอน
ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ในเมียนมา เนื่องจากเหตุผลความกังวลอันใหญ่หลวงต่อผลกระทบของสารที่จะเล็ดลอดออกมาทั้งจากความผิดพลาดโดยมนุษย์และจากภัยพิบัติที่มันจะเกิดขึ้นและกระทบต่อคนไทยและประเทศไทยโดยตรง รวมทั้งเหตุผลความมั่นคงในภูมิภาคที่ไทย
กล้าแสดงจุดยืนทางการทูตเพราะเราคือหนึ่งในสมาชิกของโลกที่ได้รับผลกระทบจากความสัมพันธ์และความร่วมมือของประเทศอื่นๆ ไม่เป็นเพียงแค่ลูกไล่ในเวทีโลกอีกต่อไป”