สมาชิกวุฒิสภา "นันทนา นันทวโรภาส" แนะ สว. ที่ถูกดีเอสไอออกหมายเรียกควรหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยสมัครใจเพื่อรักษามาตรฐานทางการเมือง ชี้บทบาทสำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรถูกตั้งข้อสงสัยในระหว่างถูกตรวจสอบ
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำหมายเรียก สว. ไปแปะหน้าบ้านแต่ละคน เพื่อให้เดินทางเข้าชี้แจงกับ กกต. ในคดีฮั้วเลือก สว. ว่า ก็เป็นไปตามกระบวนการ ถ้าบอกว่าวันนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ตนมองว่าค่อนข้างช้า เพราะการได้มาซึ่ง สว. ผ่านมาแล้ว 10 เดือน แต่อย่างน้อยกระบวนการก็ได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว และเป็นการบูรณาการระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ กกต. ดีเอสไอ และ ป.ป.ช. ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการดำเนินการตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อกระบวนการในคดีฮั้ว สว.เริ่มแล้ว ประชาชนก็รอคอยคำตอบ ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ประชาชนตั้งความหวังไว้ ด้วยความอยากรู้ว่า สว.กลุ่มใหญ่ได้มาอย่างไร จะได้สิ้นสงสัย
เมื่อถามว่า ภายในกลุ่ม สว. ได้มีการพูดคุยอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่ น.ส.นันทนา หัวเราะพร้อมกล่าวว่า ปกติตนก็ไม่ได้พูดกับ สว.กลุ่มใหญ่อยู่แล้ว ไม่ทราบว่าเขาพูดคุยอะไรกัน เราแทบจะไม่ได้พบปะพูดคุยกันอยู่แล้ว เวลาอยู่ในสภา ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ ซึ่ง สว. เสียงข้างมากก็จะมีกรรมวิธีในการสกัดให้เราไม่สามารถเสนอญัตติได้ หรือไม่สามารถลงมติอะไรต่างๆได้ ทำให้เราไม่เคยพบปะพูดคุยอะไรกันอยู่แล้ว จึงไม่ทราบว่ากลุ่มใหญ่เขามีความเคลื่อนไหวอะไร
เมื่อถามว่า มองความเงียบของ สว. โดยเฉพาะ 3 ประมุข ประธานและรองประธาน จะมีผลดีผลเสียอย่างไร ต่อสถานการณ์แบบนี้ น.ส.นันทนา กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นว่าหมายเรียกมีไปถึงประธานวุฒิสภา หรือตำแหน่งรองประธานหรือไม่ เพราะชื่อที่ปรากฎในสื่อ มีเพียง 6 คน แต่บางสำนักระบุว่ารวมถึงประธานและรองประธานวุฒิสภาด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว โดยมารยาททางการเมือง ผู้ที่ถูกหมายเรียกแม้ว่าจะไม่ได้ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ควรจะแสดงสปิริตหรือมารยาททางการเมือง ด้วยการหยุดปฏิบัติหน้าที่เอง เพราะการทำหน้าที่ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติมีความสำคัญมาก เป็นผู้ควบคุมการลงมติและการประชุม ในขณะที่ตัวเองยังถูกตรวจสอบและมีมูลถึงขั้นเรียกไปให้ข้อมูล
“กระบวนการตรวจสอบมันเดินมาถึงแล้ว เพราะฉะนั้นถึงแม้ยังไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่โดยมารยาทแล้วก็ควรที่จะหยุดปฏิบัติหน้าที่เอง ตำแหน่งนี้มีความหมายและมีความสำคัญต่อฝ่ายนิติบัญญัติมากค่ะ” น.ส.นันทนา กล่าว
ส่วนหลังจากนี้ จะทำให้งานวุฒิสภาสะดุดลงหรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า ต้องดูว่า การเรียกไปในครั้งนี้มีจำนวนทั้งสิ้นเท่าไหร่ และกระบวนการในการตรวจสอบจะใช้เวลาเนิ่นนานแค่ไหน ถ้าใช้เวลานานจนเกินไป การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาอาจจะสะดุดได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่ดำเนินการอยู่คงจะต้องเร่ง เพื่อจะไม่ให้กระบวนการนิติบัญญัติในฝั่งวุฒิสภาสะดุดหยุดลง