LGBTQ + หวัง " พรรคประชาชน " แก้ปัญหา " Hate Crime "

LGBTQ + หวัง
กางข้อมูล สังคมไทยยังอคติกับ LGBTQ + หวัง " พรรคประชาชน " สร้างความเข้าใจ - วางกฎหมายป้องกันการถูกทำร้ายด้วยความเกลียดชัง

ภาคประชาสังคมจาก 54 องค์กร รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้รัฐเร่งดำเนินการผลักดันกฎหมายและนโยบายรับมือ “อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง” (Hate Crime) หลังเกิดเหตุสลดหญิงข้ามเพศถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งภาคประชาชนเห็นว่าเป็นคดีที่มีแรงจูงใจจากอคติทางเพศ สะท้อนความเกลียดชังต่อความเป็นหญิงข้ามเพศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ด้าน ซีซ่า ฤทธิวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสิทธิมนุษยชนความยั่งยืนและระดมทรัพยากร สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างยื่นหนังสือว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่นิยามและรับมือกับ hate crime อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้คดีลักษณะนี้ถูกจัดการในฐานะ “คดีอาญาทั่วไป” โดยไม่สะท้อนแรงจูงใจเชิงอคติที่รุนแรงและอันตราย ไม่ว่าจะต่อเพศสภาพ เชื้อชาติ กลุ่มความเชื่อ รสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์อื่นๆ จึงเห็นว่า hate crime ควรได้รับการตอบสนองด้วยกฎหมายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้นำเสนอรายงานล่าสุดของธนาคารโลกภายใต้ชุดข้อมูล Equality of Opportunity for Sexual and Gender Minorities (EQOSOGI) พบว่าจากการศึกษากว่า 16 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 4 ประเทศที่มีกฎหมายซึ่งระบุชัดเจนให้คุ้มครองลักษณะทางเพศและรสนิยมทางเพศ ขณะที่มีเพียง 2 ประเทศ คือคอสตาริกาและเม็กซิโก ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีการบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบนโยบายที่ตอบสนองต่อความเป็นจริง ในรายงาน ระบุด้วยว่า ประเทศส่วนใหญ่ขาดกลไกในการจัดการกับอาชญากรรมที่มีแรงจูงใจจากอคติ โดยเฉพาะต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยยังขาดข้อมูลพื้นฐานและกลไกในการติดตามคดีอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ผู้เสียหายจำนวนมากเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม 

ขณะที่ นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย แถลงข้อเสนอเพื่อผลักดันเชิงนโยบายและกฎหมาย โดยเชื่อว่าการดำเนินการเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประเทศไทยที่ไม่มีใครต้องตกเป็นเป้าของความรุนแรงเพียงเพราะว่าตัวเขาเองเป็นใคร เช่น นิยาม hate crime และ hate speech อย่างชัดเจนในกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถแยกแยะแรงจูงใจจากอคติ ออกจากคดีทั่วไป และดำเนินการได้อย่างแม่นยำ, เพิ่มโทษ ปรับฐานการลงโทษในคดีอาญาที่มีแรงจูงใจจากความเกลียดชัง เช่น กลุ่มความเชื่อ หรือร่างกายของกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง โดยให้เพิ่มโทษอย่างน้อยหนึ่งในสามของโทษเดิม

ด้านนายธัญวัจน์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการผลักดันกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมจากความเกลียดชังครั้งนี้ มาจากกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศไทยที่ยังคงถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากอคติ นำไปสู่อาชญากรรมทางร่างกายและชีวิต นี่คือสิ่งที่เราไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ บทเรียนการฆาตกรรมคนข้ามเพศ ภาคประสังคมร่วมหารือกัน เราต่างเห็นอคติในอีกหลายรูปแบบ ที่เป็นอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ุ ความแตกต่างของถิ่นกำเนิด กลุ่มความเชื่อ เป็นต้น หรือการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวะต่างสถาบัน ที่เกิดขึ้นจากอัตลักษณ์ทางกลุ่มซึ่งถูกสร้างให้เป็นศัตรูต่อกันตั้งแต่วัยเรียน สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนของความเกลียดชังจากอคติที่ฝังรากในสังคมไทย และยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ
.
การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อเขียนเพิ่มในตัวบทกฎหมาย แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าประเทศไทยจะไม่ยอมให้ความแตกต่างกลายเป็นข้ออ้างของความรุนแรงอีกต่อไป และเป็นการปกป้องชีวิตของคนข้ามเพศและคนทุกกลุ่มในสังคมที่อาจตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชัง ถึงเวลาแล้วที่เราจะเรียนรู้ ยอมรับ และคุ้มครองชีวิตของกันและกัน ” นายธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย

TAGS: #Pridemonth #hatecrime #พรรคประชาชน #ความหลากหลายทางเพศ