"พริษฐ์" เปิดคำของบ 69 ปรับปรุงรัฐสภา จับตา 15 โครงการมูลค่าสูง

"พริษฐ์" พรรคประชาชน  เปิดคำของบ 69 ของรัฐสภา  จับตา 15 โครงการมูลค่าสูง ปรับปรุง-ติดตั้งระบบ-เติมแต่ง อาคารรัฐสภา

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง เปิดคำของบ 69 ของรัฐสภา: จับตา 15 โครงการมูลค่าสูง ปรับปรุง-ติดตั้งระบบ-เติมแต่ง อาคารรัฐสภา

ในช่วงเดือนนี้ที่สภาผู้แทนราษฎรเราเข้าใกล้กระบวนการพิจารณางบประมาณ 2569 ผมและ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ได้ตัดสินใจเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมืองและการยกระกับประชาธิปไตย (เช่น สภา ป.ป.ช. กกต.) มาชี้แจงคำของบประมาณของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ กมธ. ได้ทำการศึกษาและตรวจสอบในเบื้องต้น

การประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เป็นคิวของงบประมาณ 2569 ของสภา ซึ่งมีหลายข้อคำถามและข้อสังเกตเบื้องต้น ที่ทาง ส.ส. ผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วน ได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะไปบ้างแล้ว

ประเด็นหลักที่ทาง กมธ. เราได้ขอให้หน่วยงานชี้แจง คือ “โครงการใหม่ที่หน่วยงานเห็นว่าสำคัญและใช้งบประมำณในวงเงินสูง” ทั้งที่ได้ขอไปและสำนักงบฯอนุมัติ รวมถึงที่ขอไปและสำนักงบฯไม่อนุมัติ โดยทางหน่วยงานได้ระบุมาทั้งหมด 15 โครงการดังต่อไปนี้ (ตามเอกสารในภาพ)

[ 10 โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดย ครม. และอยู่ในร่าง พ.ร.บ. งบฯ (ล้านบาท) ]

(2) ก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) = 44 ล้านบาท
(3) พัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ B1-2 = 180 ล้านบาท
(5) ปรับปรุงไฟส่องสว่างเพิ่มเติมบริเวณห้องประชุมสัมมนาชั้น B1 และ B2 = 117 ล้านบาท
(6) ปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง = 123 ล้านบาท 
(7) ปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ = 118 ล้านบาท
(???? ปรับปรุงพื้นที่ครัวของอาคารรัฐสภา = 117 ล้านบาท
(9) ติดตั้งภาพและเสียงประจำห้องจัดเลี้ยง ชั้น B2 = 99 ล้านบาท
(11) จัดซื้อจอ LED Display = 72 ล้านบาท
(13) พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ส่วนภูมิทัศน์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ = 43 ล้านบาท
(14) ปรับปรุงห้องจัดเลี้ยง ชั้น 1 โซน C = 43 ล้านบาท

รวม = 956 ล้านบาท

[ 5 โครงการที่หน่วยงานทำคำขอ แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2569 โดย ครม. (ล้านบาท) ]

(1) ก่อสร้างอาคารจอดรถรัฐสภา (เพิ่มเติม) (รวมค่าควบคุมงานและค่าจ้างที่ปรึกษา) = 1,529 ล้านบาท
(4) ออกแบบและตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาฯในห้องประชุมสุริยัน = 133 ล้านบาท
(10) จัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย = 74 ล้านบาท
(12) ระบบป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 และเสริมสร้างคุณภาพอากาศ = 50 ล้านบาท
(15) จ้างงานซ่อมแซมปรับปรุงเสาไม้สัก = 31 ล้านบาท

รวม = 1,817 ล้านบาท

แม้ทางตัวแทนในที่ประชุมเป็นตัวแทนจากสำนักที่ไม่ใช้เจ้าภาพหลักของโครงการ จึงยังไม่มีข้อมูลมาชี้แจงรายละเอียดของโครงการต่อ กมธ. แต่ข้อมูลที่ทำให้ผมสะดุดใจและข้อสังเกตที่ผมมีเบื้องต้นคือ

1. โครงการส่วนใหญ่เน้นไปที่การก่อสร้าง-เติมแต่ง-ติดตั้งระบบ ในส่วนต่างๆของอาคารรัฐสภา ทั้งที่รัฐสภาเพิ่งถูกสร้างด้วยงบประมาณ 22,987 ล้านบาท และเพิ่งเปิดใช้การมาแค่ประมาณ 5 ปี - แม้อาจมีการให้เหตุผลว่าอาคารรัฐสภาถูกก่อสร้างตามสัญญาตั้งแต่กว่า 10 ปีก่อน จึงทำให้บางส่วนไม่ได้ระบุไว้ในแบบ แต่ผมเห็นว่าตรงนี้ยิ่งทำให้เราต้องตรวจสอบโดยละเอียดว่าสิ่งที่ขอให้มีการเพิ่มเติมนั้น มีความจำเป็นต่อการใช้งานและการทำหน้าที่ของสภาฯจริงๆหรือไม่

2. บางโครงการ ก็น่าตั้งคำถามถึงความจำเป็น (แม้ ณ เวลานี้ กมธ. รับทราบแค่ชื่อและข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ โดยทางเราได้ขอให้มีการส่งเอกสารเพิ่มเติมมาในสัปดาห์นี้) 

- เช่น การปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ (118 ล้านบาท) ทั้งๆที่เป็นห้องที่ใช้งานได้ปกติมาโดยตลอด และยากที่จะเห็นถึงความจำเป็นใดๆในการปรับปรุงขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณขนาดนี้ (ตลกร้ายคือห้องนี้เป็นห้องที่ กมธ. วิสามัญ งบประมาณ ใช้ในทุกปี เพื่อไล่ตรวจสอบความคุ้มค่าของงบประมาณของทุกหน่วยงานในประเทศ)

- เช่น การออกแบบและตกแต่งฉากหลังบัลลังก์ประธานสภาผู้แทนราษฎรในห้องประชุมสุริยัน (132 ล้านบาท) ซึ่งดูเป็นการตกแต่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับการทำให้การประชุมสภามีประสิทธิภาพขึ้น

ตอนที่ทาง กมธ. ได้บรรจุวาระเพื่อตรวจสอบงบประมาณของสภา มีการตั้งคำถามจากบางส่วนกลับมาที่พวกเรา ว่าการตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวข้องอะไรกับ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ

ผมเห็นว่าเกี่ยวข้องแน่นอน เพราะ

- ในมุมหนึ่ง ในฐานะที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันการเมืองระดับชาติองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง หากงบประมาณถูกใช้อย่างถูกจุด องค์กรจะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย การสะท้อนความทุกข์ร้อนของประชาชน และการตรวจสอบ-เสนอแนะฝ่ายบริหาร

- แต่ในทางกลับกัน ในฐานะที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่อนุมัติและชี้ขาดว่างบประมาณจากภาษีประชาชนในแต่ละปี จะถูกจัดสรรไปที่หน่วยงานใด-โครงการอะไร หากงบประมาณขอสภาเองถูกใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล สภาผู้แทนราษฎรอาจสูญเสียความชอบธรรมในการตรวจสอบงบประมาณของหน่วยงานอื่น และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในสภาน้อยลง ซึ่งย่อมส่งผลต่อสุขภาพของประชาธิปไตยเรา

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะงบประมาณจะมีที่มาอย่างไรหรือถูกตั้งมาโดยใคร ณ เวลานี้ ยังไม่สายเกินไปที่พวกเราผู้แทนราษฎรทุกฝ่ายจะร่วมกันทำการตรวจสอบและปรับลดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณของหน่วยงานตนเองเช่นกัน

ในขั้นตอนถัดไป ทาง กมธ. จะทำการตรวจสอบเพิ่มเติมเมื่อได้รับเอกสารรายละเอียดคำชี้แจงกลับมาจากหน่วยงาน โดยในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ (8 พ.ค. 2568) ทางเราได้เชิญสำนักที่เป็นเจ้าภาพของแต่ละโครงการมาซักถามข้อมูลเพิ่มเติม และมาพา กมธ. สำรวจแต่ละโครงการตามจุดต่างๆที่เกี่ยวข้องในอาคารรัฐสภา

สำหรับใครที่สนใจเพิ่มเติม อยากชวนไปรับชมการซักถามและการชี้แจงเบื้องต้นในการประชุม กมธ. เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (1 พ.ค. 2568) ได้ที่: https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=686678350407421

TAGS: #รีโนเวทรัฐสภา #งบปี69 #งบประมาณ #พรรคประชาชน #ไอติม #พริษฐ์