กกต. อธิบายที่มา ที่ไป วิธีการคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้ง 2566พรรคไหน จะได้เท่าไร
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.อธิบายที่มา ที่ไป วิธีการคำนวณส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ดังนี้
1.ให้รวมผลคะแนนบัญชีรายชื่อทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
2.ให้นำคะแนนรวมจากทุกพรรคตามข้อ 1 หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
ยกตัวอย่าง : ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง กาบัตรบัญชีรายชื่อทั้งหมด 35 ล้านคะแนน ก็จะนำ 35 คะแนนมาหารด้วย 100 ซึ่งเป็นจำนวนของ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ในสภาทั้งหมด ผลลัพธ์ที่ได้คือ 350,000 คะแนน
3.จากนั้น ในการคำนวณว่า แต่ละพรรคการเมืองจะได้ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกี่คน ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ “หารด้วย” คะแนนเฉลี่ยตามข้อ 2 ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
ยกตัวอย่าง : กรณี พรรค ก.ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 700,000 คะแนน (นับเฉพาะจำนวนเต็ม) นำมาหารกับคะแนนเฉลี่ย 350,000 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ตาม ข้อ 2 เท่ากับ พรรค ก.จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน
ข้อ 4.ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกัน ทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็ม และพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคำนวณตามข้อ 3
พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวนหนึ่งร้อยคน
กล่าวคือ หากคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบทุกพรรคแล้ว จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภายังไม่ครบ 100 คน ให้ย้อนกลับไปดูผลคะแนนของแต่ละพรรคที่มีคะแนนเศษ จากนั้นเรียงลำดับพรรคที่ได้เศษมากที่สุด จะได้ ส.ส.เพิ่มอีก 1 คน โดยเรียงเศษลงมาจนกว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภาครบ 100 คน
ข้อ 5.ในการดำเนินการตามข้อ 4 ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันและจะทำให้จำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเกินจำนวน 100 คน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษ เท่ากันจับสลากตามวันและเวลาที่ กกต.กำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน