"ผู้ว่าการสตง." ปิดปากเงียบโผล่สภา แจง "กมธ.ป.ป.ช." ปมตึกถล่ม ด้าน "ฉลาด" ประธาน กมธ.ป.ป.ช. ยันไม่มีใครสามารถ "ปรักปรำ-ทำร้าย" แต่ต้องการให้ "ผู้ว่าการ สตง." ได้พูดความจริง
เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายฉลาด ขามช่วง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ. โดยมีวาระพิจารณาขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ที่ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเชิญผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมประชุม ต่อมาเวลา 10.00 น. นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เดินทางเข้ามาชี้แจง ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามสอบถาม แต่มีตำรวจสภาประมาณ 4 นายคุ้มกันแน่นหนา ผู้สื่อข่าวจึงเดินตามและพยายามสอบถามอีกครั้งว่า วันนี้พร้อมชี้แจงต่อ กมธ. หรือไม่ หรือมีการเตรียมข้อมูลใดมาเป็นพิเศษ แต่ทางนายมณเฑียร มีสีหน้าเรียบเฉยและปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามใด ๆ ต่อสื่อมวลชน
เมื่อถามย้ำว่ามีการเตรียมข้อมูลใดมาเป็นพิเศษหรือไม่ตอบเพียงแต่พยักหน้าเบา ๆ เป็นการตอบรับ ก่อนจะเดินเข้าห้องรับรองทันที และในที่ประชุมได้ให้ถ่ายภาพเบื้องต้นแต่ไม่อนุญาตให้ฟังการชี้แจง
นายฉลาด ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ตนได้เรียนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเบื้องต้นไปว่า ต้องให้ความกระจ่างกับสภา เนื่องจากมีประชาชนสงสัยจำนวนมาก การประชุมในวันนี้ เพื่อสอบหาข้อเท็จจริง วันนี้จึงเป็นเวทีที่ท่านต้องพูดกับสภา เชื่อว่าข้อมูลที่เรามีการคาดการณ์ไว้ทั้งหมดนั้น จะได้ฟังจากปาก ผู้ว่า สตง. ซึ่งในวันนี้ ได้มีการเชิญอดีตผู้ว่า สตง.มาเป็นที่ปรึกษาด้วย บุคคลที่มาในวันนี้ ต้องให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็อยู่ระหว่างการสอบสวน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอง ก็อยู่ระหว่างสืบหาข้อเท็จจริง แต่หน่วยงานที่จะให้ข้อเท็จจริงได้ คือ ผู้ว่า สตง.
"วันนี้เรามีคำถามจากคณะกรรมาธิการฯจำนวนมาก ซึ่งทุกคนอยากรู้ข้อเท็จจริง เนื่องจากแต่ละคนก็มีข้อมูลจากหลายแหล่ง โดยวันนี้ข้อมูลทั้งหมดจะรวมกันอยู่ที่เดียวว่า ผู้ว่า สตง.จะให้คำตอบอย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือข้อเท็จจริง สามารถพูดความจริงในคณะกรรมาธิการฯ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถปรักปรำ หรือทำร้ายท่านได้ ให้ท่านได้พูดความจริงในฝั่งของท่าน สิ่งที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะ ก็สามารถพูดในคณะกรรมาธิการฯ ได้ในทางลับ"นายฉลาด กล่าว และว่า คำถามส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น เรื่องข้อมูลการบริหารสัญญา ที่มีการตอบเป็นเอกสารมา ในเชิงลึกคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมมา ทุกคนให้ความสนใจในการหาข้อเท็จจริง ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นประโยชน์ของประชาชน
นายฉลาด กล่าวต่อว่า สำหรับโครงสร้างการก่อสร้างนั้นก็ เป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันอยู่แล้ว ตามเอกสารที่ปรากฏ แต่นอกจากนั้น จะมีเรื่องการบริหารสัญญา การใช้วัสดุก่อสร้างจริงหรือไม่ตามที่เป็นข่าว และจากกรณีตึกถล่มที่ทำให้เกิดฝุ่นเยอะนั้น เราก็สงสัยว่า ส่วนผสมของปูนซีเมนต์ มีสัดส่วนเท่าไหร่ รวมถึงวิศวกรผู้ควบคุมงาน ที่มีข่าวว่า ไม่ได้ควบคุมโดยตรง มีเพียงชื่อ รวมถึงคนออกแบบด้วย ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ตรวจสอบคนอื่น วันนี้สภาได้มีโอกาสตรวจสอบท่าน และท่านต้องตรวจสอบตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มีจุดบกพร่อง จุดอ่อน ตรงไหน เพื่อเป็นอุทาหรณ์อย่างดียิ่ง ซึ่งสภาจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าเชิญรมว.อุตสาหกรรมมาชี้แจงเรื่องอะไร นายฉลาด กล่าวว่า จะมีการสอบถามเรืองคุณภาพเหล็ก ซึ่งผู้ประกอบการ อาจมีวิธีการซิกแซก เวลาก่อสร้างเอาเหล็กที่มีคุณภาพผ่าน มอก.ไปตรวจสอบก่อนการก่อสร้าง แต่อาจใช้อีกหนึ่งประเภทในการก่อสร้าง ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบก็ได้ อยู่ที่การควบคุมงาน และต้องผ่านการรับรองในเบื้องต้น เนื่องจากภายหลังเกิดเหตุ มีการนำเหล็กไปตรวจสอบ แล้วไม่ตรงตามที่ยืนยัน จึงต้องสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต และสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่ามีมาตรการในความควบคุมขนาดไหน มีมาตรฐานขนาดไหน สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการคนไทยและต่างชาติได้หรือไม่ ว่าการดำเนินการของเราเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.
อดีตผู้ว่าฯ สตง. ยืนยันไม่มีเอี่ยวออกแบบตึกใหม่
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และที่ปรึกษากรรมาธิการ ป.ป.ช. เผยว่า ตนมีส่วนเพียงในการเลือกที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ช่วงปี 2557–2560 เท่านั้น ส่วนขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างเกิดหลังจากพ้นตำแหน่งไปหลายปี จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกแบบหรือคัดเลือกผู้รับเหมา
สำหรับกรณีมีภาพถ่ายร่วมกับผู้บริหารต่างชาติในโครงการก่อสร้าง นายพิศิษฐ์ชี้แจงว่า เป็นการถ่ายภาพภายหลังจากได้ผู้รับจ้างแล้ว และไม่ทราบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นใครหรือมีประเด็นใดแอบแฝง พร้อมย้ำว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ยังระบุว่า การตรวจสอบกรณี “นอมินีแฝง” หรือการฮั้วประมูลนั้น ต้องใช้การตรวจเส้นทางการเงิน ไม่สามารถดูได้ด้วยตาเปล่า และเชื่อว่าต้องมีการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมต่อไป