"สว.สำรอง" ปูด "แสวง" ไฟเขียวให้ผู้สมัครสว.นำโพยเข้าคูหา ร้องเรียนแล้ว แต่ กกต.เพิกเฉย

กลุ่ม สว. สำรอง อ้างเลขาธิการ กกต. อนุญาตให้นำโพยเข้าคูหาได้ มีผู้ร้องเรียนแล้ว แต่ กกต. เพิกเฉย  จี้ดำเนินคดีคนผิด เว้นผู้บริสุทธิ์ ยันไม่มีเจตนาล้มการเลือกตั้ง

ที่รัฐสภา นาย อัครวัฒน์ พงศ์ธนาชลิตกุล  สว.ในบัญชีรายชื่อสำรอง เผย กรณีที่มีการเปิดเผย ว่า มีเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาตให้ผู้เลือกนำโพย เข้าไปในคูหาการเลือก สว. รอบระดับประเทศ ที่เมืองทองธานี โดยเล่าว่า ในเอกสารแนะนำตัว สว.3 มีการเขียนหมายเลขโพยอยู่ด้านหลัง เมื่อถึงเวลาให้เข้าคูหา มีการห้ามนำเอกสารใดๆ เข้าไป 

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตรวจการเลือกรายหนึ่ง พบพฤติกรรมว่า ได้อนุญาตให้นำเอกสาร สว.3 เข้าในพื้นที่การเลือกจาก นาย แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ผู้ตรวจรายดังกล่าวจึงไปแจ้งกับ กกต. ในคืนเดียวกัน แต่ไม่มีผลอะไร

กระทั่งการเลือกเสร็จสิ้น ผู้ตรวจการเลือกของ กกต. จึงเดินทางไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่วนคำร้องที่เคยส่งไป กกต. ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริง โดยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ของแสวง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับความตรงไปตรงมา ทางผู้ตรวจการเลือก เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ได้รับความสุจริต จึงไปร้อง DSI และให้ปากคำเป็นพยานไปแล้ว 

“ตกลงท่านแสวงเป็นคนอนุญาตให้เอาโพยเข้าไปใช่ไหมครับ ที่ผู้ตรวจได้ไปให้ปากคำกับ DSI ก็คือเขาแจ้งว่าแสวง เป็นคนอนุญาตให้เอาโพยเข้าไปได้ครับ” นาย อัครวัฒน์กล่าว 

นายอัครวัฒน์ กล่าวอีกว่า โพยที่ถูกอ้างถึง คือ เอกสาร สว.3 มีการเขียนตารางเลขโพยไว้ด้านหลังอย่างชัดเจนทั้ง 20 กลุ่ม ซึ่งเอกสารนี้ได้ถูกยึดไปเป็นหลักฐานที่ DSI แล้ว ส่วนที่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ให้ความเห็นว่าการนำโพยเข้าไป เนื่องจากไม่สามารถจำหมายเลขผู้ที่ต้องการจะเลือกได้นั้น มองว่า โพยไม่สามารถนำเข้าได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการทุจริต ส่วน สว.3 เป็นเอกสารแนะนำตัวตามระเบียบอยู่แล้ว ที่จะทำให้ผู้สมัครรู้จักกันและกันว่าจะต้องเลือกใคร แต่สิ่งที่ไม่ยุติธรรมคือ การเขียนโพยลงใน สว.3 ซึ่งเมื่อถึงเวลาการเลือก จะมีข้อกำหนดห้ามเปิดดูเอกสาร สว.3 จึงทำให้มีการเขียนโพยขึ้นมา 

ในวันเดียวกัน นายอัครวัฒน์ยังได้นำตัวแทน สว. ในบัญชีรายชื่อสำรองกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อให้สอบจริยธรรม สว. ที่ร่วมลงชื่อพิจารณาไต่สวนและดำเนินการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดี DSI เกี่ยวกับการกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นายอัครวัฒน์ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คือผู้ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจเข้ามาสู่ระบบการเมืองไม่ได้คำนึงถึงรัฐธรรมนูญเลย  ไม่ยำเกรงต่อกฎหมายอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น ในทางกลับกัน มี สว. กลุ่มหนึ่งยื่นหนังสือต่อรัฐสภา เพื่อขอให้ยื่นต่อไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิด 

“ท่านกำลังขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ อย่างไร พวกเราจึงมาให้ประธานรัฐสภาตรวจสอบจริยธรรมของบุคคลเหล่านั้นว่าสมควรที่จะอยู่ในสภาสูง ที่เรียกว่าสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่บอกว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรี  แต่ในทางกลับกัน พฤติกรรมของท่านก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ของกระทรวงยุติธรรมที่จะดำเนินคดีเปิดโปงในเรื่องการฮั้วเลือก สว. พวกเราขอมาพึ่งประธานรัฐสภา” นายอัครวัฒน์กล่าว

TAGS: #กกต #สวสำรอง #ผู้สมัครสว #โพย