หลังตัดสิทธิ์ต่างด้าว จำนวน สส. 4 จว.เพิ่ม 4 จว.ลด 

หลังตัดสิทธิ์ต่างด้าว จำนวน สส. 4 จว.เพิ่ม 4 จว.ลด 
เผยแบ่งเขตไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย "ตาก-เชียงราย-เชียงใหม่-สมุทรสาคร" จำนวน ส.ส.ลด "อุดรฯ-ลพบุรี-นครศรีฯ-ปัตตานี" ได้เพิ่ม 

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า การแบ่งเขตใหม่ โดยไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยจะทำให้ 8 จังหวัด มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กล่าวคือ มี 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส. ลดลง และมี 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น  

สำหรับ 4 จังหวัดมีจำนวน ส.ส. ลดลง ประกอบไปด้วย

1. ตาก จาก 4 เหลือ 3 ที่นั่ง 

2. เชียงราย จาก 8 เหลือ 7 ที่นั่ง 

3. เชียงใหม่ จาก 11 เหลือ 10 ที่นั่ง 

4. สมุทรสาคร จาก 4 เหลือ 3 นั่ง 

ส่วน 4 จังหวัดจะมี ส.ส. เพิ่มขึ้น ได้แก่

1. อุดรธานี จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง 

2. ลพบุรี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง 

3. นครศรีธรรมราช จาก 9 เป็น 10 ที่นั่ง 

4. ปัตตานี จาก 4 เป็น 5 ที่นั่ง 

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงแบ่งเขตใหม่ โดยตัดจำนวนคนต่างด้าวออกไปยังส่งผลต่อภาพรวมจำนวน ส.ส. ของแต่ละภาค

ภาคใต้ จากเดิม 58 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 60 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่นครศรีธรรมราช 1 ที่นั่ง และ ปัตตานี 1 ที่นั่ง

ภาคอีสาน จากเดิม 132 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 133 ที่นั่ง คือ เพิ่มที่อุดรธานี 1 ที่นั่ง

ภาคเหนือ จาก 39 ที่นั่ง จะลดลงเหลือ 36 ที่นั่ง คือ ลดที่ ตาก เชียงราย เชียงใหม่ จังหวัดละ 1 ที่นั่ง

ภาคกลางรวมกรุงเทพฯเท่าเดิม 122 ที่นั่ง คือ ลดที่ สมุทรสาคร 1 ที่นั่งเพิ่ม ลพบุรี 1 ที่นั่ง

ภาคตะวันออกมี ส.ส. 29 คนไม่เปลี่ยนแปลงจากการแบ่งเขตใหม่

ภาคตะวันตกมี ส.ส. 20 คน ไม่เปลี่ยนแปลงจากการแบ่งเขตใหม่

ขณะเดียวกัน 2-3 สัปดาห์ หาก กกต. ทำงานเชิงรุก สั่งการให้ทำล่วงหน้า ก็หยิบรูปแบบใหม่มาประกาศได้ทันที 

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย การคำนวณจำนวน ส.ส.ไม่ต้องนับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย ว่า

" ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ คำนวณ จำนวน ส.ส. ใช้ราษฎรที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

สิ่งที่ กกต. ต้องดำเนินการต่อ เพื่อให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งในเดือน พฤษภาคม 2566 คือ

1. จัดประชุม กกต.เป็นการเร่งด่วน เพื่อมีมติ ให้คำนวณ จำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดใหม่ ทั้งประเทศ และมีคำสั่ง ให้ 8 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ จัดทำการแบ่งเขตใหม่ ประกาศ ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยเริ่มทันที ในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2566

2. มีมติให้ลดระยะเวลารับฟังความคิดเห็น ใน 8 จังหวัดดังกล่าว จาก 10 วัน เหลือ 5 วัน ดังนั้น การรับฟังจะเสร็จสิ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2566 และ กกต. สามารถมาลงมติ เรื่องรูปแบบแบ่งเขตได้ในวันที่ 10 มีนาคม 2566

3. ใน 69 จังหวัด ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ให้ กกต. ประกาศผลการแบ่งเขตในราชกิจจานุเบกษาก่อนทันที เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำการเลือกตั้งขั้นต้นไปล่วงหน้าได้

4. ใน 8 จังหวัดที่เป็นปัญหา คือ เชียงใหม่ ตาก เชียงราย สมุทรสาคร (ลดอย่างละ 1 ) และ อุดรธานี ลพบุรี ปัตตานี นครศรีธรรมราช (เพิ่มอย่างละ 1) หลังจาก กกต. มีมติในวันที่ 10 มีนาคม 2566 สามารถลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 10 มีนาคม 2566 และพรรคการเมืองสามารถไปทำการเลือกตั้งขั้นต้น ในช่วง 11-15 มีนาคม 2566

5. ผมเสนอว่านายกฯยุบสภา ประมาณ 22 มีนาคม 2566 และเลือกตั้ง 21 พฤษภาคม 2566 น่าจะดีสุดครับ

TAGS: #กกต. #แบ่งเขตเลือกตั้ง #ต่างด้าว