"เรืองไกร" อ้างคำสั่งศาลฎีกา ร้อง กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัยว่า ต้องยุบพรรคประชาชาติ หรือไม่

"เรืองไกร" อ้างคำสั่งศาลฎีกา ร้อง กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัยว่า ต้องยุบพรรคประชาชาติ หรือไม่

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เผย  โดยผลของคำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง 2 คดี เกี่ยวกับกรณีพรรคประชาชาติ ส่งผู้สมัคร ส.ส. ที่จังหวัดสตูล 2 เขต ที่ กกต. ต้องทราบดีอยู่แล้วนั้น กรณีดังกล่าวศาลมีคำสั่งมาประมาณ 8 เดือนแล้ว ดังนั้น จึงมีเหตุที่ต้องส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อให้ กกต. รีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ศาลฎีกา (คดีเลือกตั้ง) คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 11/2566 ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้ดังนี้

“ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดสตูล คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดสตูล หรือไม่ เห็นว่า คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566 เอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 8 ซึ่งจัดประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 ว่า ในการประชุมดังกล่าวมีการแก้ไขข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 ข้อ 27 วรรคสาม โดยให้นำความในข้อบังคับพรรคประชาชาติ ข้อ 23 และข้อ 24 มาใช้บังคับกับตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดโดยอนุโลม อันเป็นการทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่ครบวาระรักษาการต่อไปได้ และพรรคประชาชาติได้แจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบแล้ว ตามหนังสือแจ้งการครบวาระของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 9 แต่เมื่อข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 ก่อนที่จะมีการแก้ไข ไม่ได้กำหนดให้ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่ครบวาระรักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แม้จะมีการแก้ไขข้อบังคับพรรคภายหลัง แต่การแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวก็ไม่มีผลทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดซึ่งครบวาระไปก่อนแล้วสามารถรักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า คณะกรรมการบริหารพรรคยังไม่เคยมีมติให้เลิกตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสตูลและเคยมีมติให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลที่ครบวาระรักษาการต่อไปก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ จึงมีผลทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลยังไม่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนั้น เห็นว่า แม้พรรคประชาชาติมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วและนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหนังสือตอบว่ารับทราบ ก็ไม่มีผลทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดซึ่งครบวาระและพ้นการเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดแล้วสามารถรักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เพราะขณะนั้นยังไม่มีข้อบังคับของพรรคกำหนดไว้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าหัวหน้าพรรคประชาติได้ออกหนังสือรับรองการส่งผู้ที่ได้รับการสรรหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 50 และมาตรา 51 แล้ว แม้ปรากฏภายหลังว่าการสรรหาไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 50 และมาตรา 51 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคสอง ระบุว่า ไม่ทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเสียไปนั้น ก็เป็นกรณีที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 50 และมาตรา 51 เท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงการไม่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามมาตรา 47 ด้วย จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าพรรคประชาชาติไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูล จึงไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 47 ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดสตูล ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง”

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ศาลฎีกา (คดีเลือกตั้ง) คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 18/2566 ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้ดังนี้

“ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 วันที่ 22 มีนาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 รับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ถึง 7 เมษายน 2566 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสตูล ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2566 ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาชาติซึ่งผู้ร้องเป็นสมาชิกไม่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูล หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลครบวาระและข้อบังคับพรรคการเมืองมิได้กำหนดให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุพรรคประชาชาติไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลหรือไม่ เห็นว่า ได้ความจากการไต่สวนและข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับโดยผู้ร้องแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งจัดประชุม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการประชุมดังกล่าวมีการแก้ไขข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 โดยข้อ 27 วรรคสาม ข้อบังคับพรรคประชาชาติ 2561 ให้นำความในข้อบังคับพรรคประชาชาติ ข้อ 23 และข้อ 24 มาใช้บังคับกับตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดโดยอนุโลม อันเป็นการทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่ครบวาระรักษาการต่อไปได้และพรรคประชาชาติได้รายงานให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าพรรคประชาชาติแต่งตั้งนายอูมัรเป็นตัวแทนพรรคประชาชาติประจำจังหวัดสตูล ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2561 ประกาศเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 โดยข้อบังคับพรรคข่อ 28 กำหนดว่า ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดมีวาระคราวละ 4 ปี นับแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจึงครบวาระในวันที่ 7 มกราคม 2566 การที่พรรคประชาชาติได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับพรรคดังกล่าวได้กระทำภายหลังจากที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลครบวาระแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 การแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลซึ่งครบวาระไปแล้วก่อนมีการแก้ไขกลับมามีอำนาจรักษาการต่อไปได้ เนื่องจากตามข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 ก่อนมีการแก้ไข ไม่ได้กำหนดให้ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่ครบวาระดำรงตำแหน่งรักษาการต่อไปได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า คณะกรรมการบริหารพรรคยังไม่เคยมีมติให้เลิกตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสตูลและได้มีมติให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลที่ครบวาระรักษาการแทนไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ความเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดยังไม่สิ้นสุด นั้น  จะเห็นได้ว่าการดำรงตำแหน่งตามข้อบังคับพรรคดังกล่าว หรือการที่พรรคประชาชาติมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูลครบวาระแล้ว และดำรงตำแหน่งรักษาการต่อไปตามข้อบังคับของพรรคซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองเพียงตอบว่ารับทราบเท่านั้น จึงไม่มีผลทำให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดซึ่งครบวาระแล้วสามารถรักษาการต่อไปได้ เพราะขณะนั้นไม่มีข้อบังคับกำหนดไว้ดังวินิจฉัยข้างต้น ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า หัวหน้าพรรคประชาติได้ออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 50 และมาตรา 51 แล้ว ซึ่งแม้ปรากฏภายหลังว่าการสรรหาไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 50 และมาตรา 51 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคสองระบุว่าไม่ทำให้การสมัครรับเลือกตั้งเสียไปนั้นก็เป็นกรณีที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 50 และมาตรา 51 เท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงการไม่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามมาตรา 47 ด้วย จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นถือได้ว่าพรรคประชาชาติไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดสตูล จึงไม่สามารถส่งผู้ร้องให้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 47 ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสตูล ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง”
  
ข้อ 3. ตามคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นเหตุที่ กกต. ควรรีบดำเนินการต่อไปว่า พรรคประชาชาติมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) หรือไม่ และจะมีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
   
ข้อ 4. คำว่า “อาจเป็นปฏิปักษ์” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ดังนี้
         
“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74 (4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด ” พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครอง ของประเทศ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีส่วนกำหนดตัวบุคคล ที่จะเข้าไปดำรงตําแหน่งทางการเมือง ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการ บริหารพรรคการเมืองเป็นเสมือนมันสมอง และระบบจิตใจ เป็นผู้ใช้ดุลพินิจ ตัดสินใจ และกระทำการใด ๆ แทนพรรคการเมือง ดังนั้นผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจ และการกระทำของพรรคการเมืองที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนของประเทศชาติ และระบอบการปกครองของประเทศ ถ้าพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เป็นการล้มล้าง หรือเพียง “อาจเป็นปฏิปักษ์ ” ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมืองนั้น รวมทั้งคณะกรรมการ บริหารพรรคการเมืองนั้นย่อมจะต้องถูกลงโทษทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็นความเชื่อของตนมาเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบ ต่อการกระทำนั้นไม่ได้ ถึงแม้กฎหมายจะมิได้ให้นิยามศัพท์คําว่า “ล้มล้าง” และ “ปฏิปักษ์” ไว้ แต่ทั้งสองคํานั้น ก็เป็นคําในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองด้วยว่า “ล้มล้าง” หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่ หรือมีอยู่อีกต่อไป ส่วนคําว่า “ปฏิปักษ์ ” นั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างทำลาย ให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำ ที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว สำหรับประเด็นเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติชัดเจนว่า เพียงแค่ “ อาจเป็นปฏิปักษ์ ” ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือต้องรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นจริงเสียก่อนไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่ สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ลุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป อนึ่ง บทบัญญัติในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ที่ว่า “... อาจเป็นปฏิปักษ์ ...” นั้น ในทางกฎหมาย เป็น “เงื่อนไขทางภาวะวิสัย ” กล่าวคือ ไม่ขึ้นกับเจตนาหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำว่า จะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์แห่งการกระทำนั้น ๆ ว่าในความคิดของวิญญูชนหรือคนทั่ว ๆ ไป จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์หรือไม่” 

นายเรืองไกร กล่าวในท้ายหนังสือระบุด้วยว่า จึงเรียนมาเพื่อขอให้ กกต. นำคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งทั้งสองคดีข้างต้น มาดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคประชาชาติ เข้าข่ายกระทำการตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) หรือไม่ และโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว  กกต. จะต้องดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องตามมาด้วย หรือไม่ อนึ่ง ขอให้ตรวจสอบและชี้แจงให้ทราบด้วยว่า เหตุใดกรณีนี้ การดำเนินการกฎหมายที่เกี่ยวข้องของ กกต. จึงมีความล่าช้า ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งมาประมาณ 8 เดือนแล้ว
 

TAGS: #เรืองไกร #พรรคประชาชาติ #ยุบพรรค #กกต