เปิดไทม์ไลน์ประชามติ จับตา กก.ชุดใหญ่เคาะ 25 ธ.ค.

เปิดไทม์ไลน์ประชามติ จับตา กก.ชุดใหญ่เคาะ 25 ธ.ค.
“นิกร” เผยคณะอนุกรรมการประชามติ รับฟังความเห็นครบแล้ว 4 ภาค เตรียมประชุมอนุกรรมการสรุป 22 ธ.ค.นี้ เผย “ภูมิธรรม” นัดถกกรรมการชุดใหญ่ 25 ธ.ค.จับตาเคาะทำประชามติ 

นายนิกร จำนง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงการรวบรวมความเห็น ในการทำประชามติ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญว่า ความเห็นที่สำคัญของพรรคการเมือง เรารวบรวมมาหมดแล้ว ยังเหลือการรับฟังความคิดเห็นที่สำคัญคือสมาชิกรัฐสภา ตนได้เรียนกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วว่า ในวันที่ 13-14 ธ.ค.จะรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา วันที่ 18-19 ธ.ค.จากนั้นในวันที่ 20 ธ.ค. จะนำความเห็นไปวิเคราะห์ และวันที่ 22 ธ.ค. จะมีการนัดคณะอนุกรรมการฯ เพื่อสรุปเป็นรายงาน ซึ่งวันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการนัดประชุมคณะคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป แล้วหลังจากนั้น ในช่วงสิ้นปี จะนำเสนอสู่สภาฯ
                  

นายนิกร กล่าวว่า  ยังมีเรื่องที่ค้างอยู่ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้ กกต. จะแสดงความเห็นต่อกรรมการแล้ว แต่อยากได้มติจากบอร์ด กกต.ที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงอยากได้ความเห็นอื่น เช่น สามารถดำเนินการทำประชามติร่วมกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้หรือไม่ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการชุดของนายวุฒิสาร ตันไชย ที่จะพิจารณาเรื่องประชามติเชิงกฎหมายได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายโดยเฉพาะว่าหากจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติ โดยเฉพาะในมาตรา 13 ซึ่งเป็นประชามติสองชั้นจะแก้อย่างไรเพื่อทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ตนจะพบและหารือกับเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ และคณะทำงานของอนุกรรมการ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นและศึกษาแนวทางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเขาเป็นประเทศที่ทำประชามติเป็นจำนวนมาก และใช้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะได้ดูว่าจะใช้งบลดลงได้หรือไม่ ทำเพื่อเรื่องอื่นๆนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
                       

เมื่อถามว่าการทำประชามติจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ไม่ช้า เพราะใช้รัฐสภาประชุมร่วม จะไม่ใช้ช่องทางกฎหมายธรรมดา ที่ส่งไปสภาฯ ก่อน แล้วค่อยส่งไปวุฒิสภา สำหรับการประชุม ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสรุปอย่างไร ซึ่งตนก็ยังรอความเห็นของสมาชิกรัฐสภาอยู่ เพราะเขาไม่ได้ตอบในฐานะประชาชน แต่ตอบในฐานะผู้ลงคะแนนหากมีการเสนอกฎหมาย

TAGS: #ประชามติ #แก้รธน. #รัฐธรรมนูญ #นิกรจำนง #วันรัฐธรรมนูญ