เกษตรกรรม นวัตกรรม และความยั่งยืน (1)

เกษตรกรรม นวัตกรรม และความยั่งยืน (1)
คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

ทุกวันนี้ ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ดีมากสำหรับการเกษตรกรรม  เพราะมีปัจจัยตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ แสงแดด อุณหภูมิ มีชายฝั่งทะเลสองด้าน (ด้านทิศตะวันออก คือ อ่าวไทย ทะเลจีนใต้ ส่วนด้านทิศตะวันตก คือ ทะเลอันดามัน) และมีลมมรสุมพัดผ่านสองทิศทาง (ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พ.ค. - ต.ค.) หรือลมฝน และลมมรสุมตะวันออก เฉียงเหนือ (พ.ย. - ม.ค.) หรือ ลมหนาว) พัดเอาความชื้นและฝนมาตกตามฤดูกาล ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำนา (ปลูกข้าวนาปี และนาปลังได้ปีละหลายครั้ง) รวมทั้งการทำพืชไร่ พืชสวน การประมง และการปศุสัตว์ด้วย

 

ดังนั้น  การเกษตรบ้านเรา จึงมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์หรือเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นต้นทุนเดิมที่สูงมาก

แม้ว่า  แต่ละปีเกษตรกรจะเป็นผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรได้จำนวนมาก  แต่ตราบใดที่เกษตรกรผลิต และขายผลผลิตเป็นวัตถุดิบเลย ก็จะพบกับปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  และเกษตรกรจะมีอำนาจต่อรองราคาผลผลิตน้อยด้วย

การที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องราคาพืชผลตกต่ำและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้ผลิตซึ่งเป็น “ต้นน้ำ” นั้น นอกเหนือจากการประกันราคา และการใช้เงินอุดหนุนพืชผลทางเกษตรแล้ว  เราควรจะต้องทำอย่างครบวงจรด้วย “วิถีทางอุตสาหกรรม” ด้วย (คือการเชื่อมโยงผลผลิตจากต้นน้ำเข้าสู่กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องกัน จนถึงการขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าได้อย่างยั่งยืน)

หลักการสำคัญ ก็คือ การสร้างกลไกที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้พืชผลทางการเกษตรอย่างเป็นระบบแบบครบวงจร  เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างอำนาจการต่อรองให้เกษตรกร แทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบเบื้องต้นเท่านั้น

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน  เกษตรกรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการขายพืชผลทางเกษตรได้มากขึ้น  แต่ก็เป็นเพียง “ต้นน้ำ” เท่านั้น  ส่วนกลางน้ำ และปลายน้ำ ยังขาดการเชื่อมโยง (เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม) และขาดเทคโนโลยี (เพื่อเพิ่มผลิตภาพ) ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยกันสร้าง “ห่วงโซ่แห่งคุณค่า” (Value Chain) ให้ครบวงจร

“เกษตรอุตาหกรรม” (Agro-Industry) จึงเป็น “คำตอบ” ในวันนี้

“เกษตรอุตสาหกรรม” (Agro-Industry) (หลายท่านเรียกว่า “อุตสาหกรรมเกษตร”) หมายถึง การดำเนินการผลิตพืช ผลิตสัตว์ และการแปรรูปวัตถุดิบที่เป็นพืชและสัตว์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค โดยผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยวิธีการต่างๆ  ซึ่งใช้เครื่องจักกลหรือหลายๆ วิธีร่วมกันก็ได้  รวมตลอดถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้นั้นด้วย เช่น การผลิตอาหารสำเร็จรูปจากโรงงานหรือในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

องค์ประกอบที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้เป็นทุนเดิมในการผลิตพืชผลทางการเกษตรของไทย  จึงเปรียบเสมือนเป็น “สุวรรณภูมิ” โดยแท้ เช่น พื้นที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทย เป็นแผ่นดินทองที่เหมาะกับการปลูกข้าวที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นต้น

แต่ปัจจัยที่มนุษย์เราจะต้องเสาะหาเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก็คือ “พันธุ์พืชและชนิดพืช” ที่เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรแต่ละแห่ง จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีและการบริหารจัดการใส่เข้าไปในกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพในปริมาณสูง และใช้บริโภคเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ และที่สำคัญก็คือ กระบวนการผลิตนั้นๆ จะต้องไม่ก่อให้เกิดขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ และสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีเกิดขึ้นด้วย มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบระยะยาวและมีผลต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เป็นปัญหาของโลกในปัจจุบัน  ครับผม !

 

TAGS: #Growth #and #Sustainability #วิฑูรย์  #สิมะโชคดี #ความยั่งยืน