องค์การเภสัชกรรม  เร่งผลิต ยารักษาโควิด-19 หลังผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น 

องค์การเภสัชกรรม  เร่งผลิต ยารักษาโควิด-19 หลังผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น 
องค์การเภสัชกรรม(GPO) เร่งผลิต - สำรองยารักษาโควิด-19  ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) จำนวนกว่า 5 ล้านเม็ด รองรับการระบาดโรคโควิด-19

พญ.มิ่งขวัญ  สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผย  จากการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลล่าสุด ณ สัปดาห์ที่ 21 ของปี 2568 (วันที่ 18 - 24 พ.ค.68) (ข้อมูล ณ. วันที่ 26 พ.ค.68) มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ 53,597 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย  ยอดสะสมผู้เสียชีวิต ปี 2568 อยู่ที่ 46 ราย เชื้อโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งผู้ที่เคยเป็นมาแล้วเป็นซ้ำได้อีก และส่วนใหญ่จำนวนมากไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อเพราะมีอาการน้อย แต่แพร่กระจายได้ จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว อีกทั้งเกิดจากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก และการเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นสามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี

องค์การเภสัชกรรมในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการผลิต สำรอง กระจายยาและเวชภัณฑ์เพื่อรองรับการระบาดที่เกิดขึ้น และจากการแพร่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็วดังกล่าว พบว่ามีการแจ้งความต้องการเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมวางแผนผลิตรองรับการระบาดในหน้าฝนตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มกำลังการผลิตยาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ประกอบด้วย ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จำนวน 1,750,000 เม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) จำนวน 3,360,000 แคปซูล จึงได้ปรับเร่งกระบวนการต่างๆจนสามารถขึ้นคลังได้เร็วขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 23 พ.ค.68 ที่ผ่านมา และได้ส่งกระจายยาไปยังโรงพยาบาลต่างๆ อย่างเร่งด่วนแล้ว  โดยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จัดส่งภายใน 1 วัน และต่างจังหวัดจัดส่งภายใน 3 วัน ได้แก่ โรงพยาบาล เขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 13 แห่ง เมื่อวันที่ 24 พ.ค.68 และกลุ่มโรงพยาบาลและหน่วยบริการทั่วประเทศ ประมาณ 315 แห่ง เมื่อวันที่ 26 พ.ค.68 และสำหรับ lot ต่อๆ ไปจะมีการผลิตและกระจายเพิ่มเติมในวันที่ 28 พ.ค.68 และ ในต้นเดือน มิ.ย.68 ตามลำดับ นอกจากนั้น องค์การเภสัชกรรมได้มีการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเพิ่มแล้ว และยังได้เพิ่มการจัดหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อการผลิตยาทั้ง 2 รายการดังกล่าวสำรองไว้ให้เพียงพอในกรณีที่อาจจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนผลิตและสำรองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการระบาดของโรค

TAGS: #โควิด19 #โควิด #COVID19 #COVID #ยาฟาวิพิราเวียร์ #โมลนูพิราเวียร์