สังคมไทยเทปแดง - เมื่อสังคมชั้นสูงเลือกที่อยู่อย่างไร้ตรรกะ 

สังคมไทยเทปแดง - เมื่อสังคมชั้นสูงเลือกที่อยู่อย่างไร้ตรรกะ 
โดย... พชร นริพทะพันธุ์ อดีตที่ปรึกษาประจำประธานกสทช.

จาก Entertainment Complex ถึง G-Token ; ชั้น 14 ถึง สว. เลือกกันเอง ; ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางวังวนปัญหาการเมืองไร้ซึ่งทางออกจากเขาวงกต ภาษาวิชาการเรียกว่า Feedback loop คือ การติดวงเวียนของปัญหาที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็กลับมาจุดเดิม เรียกได้ว่า "เดินก้าวนึงถอยกลับสองเก้า" ก็ว่าได้ 

นักวิทยาศาสตร์ชื่อว่า Yameer Bar-Yam เรียกว่า Dynamic Complex System หรือ ระบบความซับซ้อน ในวิชาวิทยาศาสตร์แห่งการขัดแย้ง เราใช้ระบบนี้วิเคราะห์ Protracted Conflict หรือว่า "ความขัดแย้งยืดเยื้อ" ซึ่งในโลกมีอยู่ประมาณ 5% ตามการคาดการณ์ของ Dr.Peter Coleman นักวิทยาศาสตร์ความขัดแย้ง (ท่านเป็นอาจารย์ของผู้เขียน) การขัดแย้งในประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5% นั้น เทียบได้กับปัญหาใน พม่า ตะวันออกกลาง หรือ ในประเทศโคลัมเบีย 
 
หนึ่งในปัจจัยของความขัดแย้งคือเทปแดง หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Red Tape หรือ เส้นที่ขีดไว้ไม่ให้ข้าม ผู้เขียนจะเรียกสังคมไทยว่า "สังคมเทปแดง" คือไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะเจอเส้นนี้ไปหมด ถึงแม้คนส่วนใหญ่เรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ความเท่าเทียม คุณภาพชีวิต หรือ แม้กระทั่งนวัตกรรม ที่จะไปสู้กับประเทศอื่นๆในโลก เพื่อให้เราพัฒนาเป็นลำดับต้นๆของภูมิภาค แต่เรามักจะเจอปัญหาไม่สามารถก้าวข้ามเทปแดงนี้ได้ พูดง่ายๆเทปแดงคือ อุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง หรือ Change ที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนา 
 
หากเราย้อนดูผลศึกษา เทปแดงมักจะเขียนบนมาตรฐานเดิมๆ คือตามใจคนเสียงดังบนพื้นฐานคนดี แต่ไม่ใช่ว่าจะมีเหตุผลหรือตรรกะเท่าไหร่นัก 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนเป็นส่วนหนึ่งของเทปแดง ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ประชาชน อนุรักษ์นิยม หรือหัวก้าวหน้า คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า มีส่วนเป็นเทปแดงทั้งสิ้น ทุกคนเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงแต่ไม่เปลี่ยนตัวเอง ทุกคนรู้ปัญหา แต่ไม่เลือกปัญหาที่ตัวเองอยากแก้ ทำให้ระบบ System Thinking (ความคิดอย่างเป็นระบบ) หายไป สรุปคือประเทศถอยหลัง ในขณะที่โลกหมุนไปข้างหน้า 
 
ผู้เขียนจะยกตัวอย่าง 2-3 เรื่อง ในสถานการณ์ปัจจุบัน
 
1. Entertainment Complex 
เหตุ ; ความคิดพื้นฐานคือ รองรับการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างแรงดึงดูดธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้คนไทยผ่านวิกฤตรายได้ปานกลางและเพิ่มศักยภาพของชนชั้นกลางไม่ให้ถดถอยลงไป ในเมื่อคนไทยต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ไม่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจรองรับอีกต่อไป 

ผล ; รัฐต้องเพิ่มรายจ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางสังคม โดยประเทศไทยพึ่งรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึงความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน
 
ปัญหา ; ระบบยุติธรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ และการเอื้อประโยชน์คนบางกลุ่ม ความกลัวเรื่องการมอมเมาเยาวชนและการติดพนันเรื้อรัง 

ปัญหาของปัญหา ; เรื่องระบบยุติธรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ - หลายคนรู้ว่าการพนันเป็นปัญหา แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้หายไปเพราะระบบยุติธรรม เรากลับให้ระบบยุติธรรมสั่นคลอนเพียงเพราะความกลัวที่จะทำให้มันถูกกฎหมาย นี่ย่อมเป็นการสร้างปัญหามากกว่า เพราะมนุษย์ธรรมดาย่อมอยากได้เงินอย่างถูกกฎหมาย มากกว่าได้เงินมาแบบผิดๆ เพียงแต่เมื่อการได้เงินมาแบบผิดๆไม่ได้กระทบอะไรกับชีวิตเขา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อระบบที่ถูกต้องมีพลังมากกว่า ระบบที่ผิดกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมายย่อมลดลง 

การเอื้อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม - การลงทุน Entertainment Complex ต้องการเม็ดเงินมหาศาล และใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน การลงทุนแบบปัจจัยปกติ ย่อมมีความเสี่ยงด้านอุปสงค์และอุปทาน และตลาดที่ยากต่อการคาดเดา การเอาที่ดินที่ให้ผลประโยชน์ต่ำต่อสังคม (เช่นท่าเรือคลองเตย - ซึ่งเป็นเพียงการคาดเดา) ไปทำให้เกิดการพัฒนาหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระยะยาว เปลี่ยนประชาชนจากอาชีพหาบเร่ แรงงาน มาเป็นอาชีพบริการ ที่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ใครแต่เป็นการเลือกที่จะหาคนมีศักยภาพมาลงทุน เพราะไม่มีใครรอเอาผลประโยชน์เข้าตัวเองนานขนาด 20-30 ปี ยาวนานกว่าชั่วชีวิตของผู้ตัดสินนโยบาย หรือแม้กระทั่งผู้เขียนเองก็อาจจะไปแล้ว จึงเห็นได้ว่าการหาเงินจากสินบนหรือเงินทอน ถือว่าง่ายกว่าผลประโยชน์จากการลงทุนมาก 

ความกลัวเรื่องมอมเมาเยาวชนและการติดพนันเรื่องรัง - จากเหตุการณ์พระผู้ใหญ่ยักยอกเงินวัดไปเล่นพนันออนไลน์ เป็นตัวอย่างสุดโต่ง ทำให้เห็นว่า ระบบปัจจุบันล้มเหลวและระบบยุติธรรมไม่สามารถรองรับการจับคนเล่นพนันเป็นพันเป็นหมื่นมาขึ้นศาลเพื่อลงโทษได้ หากทำเช่นนั้นประเทศไทยก็เปลี่ยนจากประเทศท่องเที่ยวและลงทุนกับคุกเพียงอย่างเดียวก็พอ 

การที่เราสร้างระบบให้คนเล่นพนันได้รับการควบคุม ปกป้อง และ บริหารจัดการแบบโปร่งใสย่อมดีกว่าปล่อยให้ระบบใต้ดินมีพลังอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ยังได้ยินการเรียกร้องจากกลุ่มแพทย์จิตเวช ที่ให้เหตุผลว่าหากทำให้ถูกกฎหมายจะมอมเมาเยาวชน ซึ่งทุกวันนี้การพนันผิดกฎหมายก็มอมเมายิ่งกว่า เพราะผู้ปกครองไม่สามารถเข้าถึง เข้าใจ หรือสามารถบริหารจัดการได้ และ การกระทำผิดกฎหมายย่อมหมายถึงการถูกลงโทษ แล้วรัฐจะลงโทษเยาวชนจำนวนมหาศาลได้อย่างไร ?? ซึ่งในทางทฤษฎีก็ไม่ตรงกับหลักของพฤติกรรมของเด็กเยาวชน ที่ชอบการแหกกฎมากกว่าการอยู่ในระเบียบ เห็นได้จากการเปลี่ยนพฤติกรรมจากการแอบสูบกัญชาไปยังบุหรี่ไฟฟ้าที่ผิดกฎหมาย มากกว่าการสูบกัญชาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเหตุไม่ใช่เหตุผลทางจิตเวชแต่ระบบสังคมที่มีปัญหา ปัญหาครอบครัวและปัญหาทางด้านจิตวิทยาที่ถูกนำโดยจิตแพทย์มากกว่านักจิตวิทยา (ต่างที่จิตเวช เป็นแพทย์ และนักจิตวิทยา เป็นนักสังคมวิทยา) ที่แก้ปัญหาด้วยการรักษามากกว่าการบำบัดและให้ความเข้าใจ 
 
2. G-Token
เหตุ; ประเทศต้องลงทุนและให้บริการประชาชน โดยใช้เงินภาษีหรือการนำเครดิตของประเทศมาใช้ออกพันธบัตร

ผล; โดย G-Token รัฐคิดให้เป็นการออกสินทรัพย์ดิจิทัล ตาม พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล พศ.2561 เพื่อให้เข้ายุคสมัย โดยเป็นไปตามมาตรฐานเทคโนโลยีทางการเงินระดับโลก และเข้าตามเงื่อนไขตลาดการเงินโลก 

ปัญหา ; การออกพันธบัตรรัฐถือเป็นหนี้สาธารณะ ต้องออกโดยกระทรวงการคลัง 

ปัญหาของปัญหา ; เมื่อ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง อดีตรองผู้ว่าฯแบงก์ชาติ และ อดีตเลขาฯกลต. ออกมาอ้าง พรบ.หนี้สาธารณะ ปี 2548 และ พรบ.เงินตรา ปี 2501 ว่าการออกนวัตกรรมทางการเงินของรัฐผิดกฎหมายและไม่สามารถใช้เป็นเงินตราได้ ในทฤษฎี การกระทำของนายธีระชัยนั้นเรียกว่า การทำ FUD หรือ Fear of Uncertainty และ Doubt คือการสร้างความกลัวและความสงสัย ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ต่างกับการทำให้เกิด bank run หรือการถอนเงินจนทำให้ธนาคารล้ม แต่พุ่งเป้าให้รัฐล้ม 

หากอธิบายตามกฎหมายแล้ว คุณธีระชัยน่าจะรู้ดีกว่าใคร คำนิยาม ตามมาตรา 3 ของ พรก. สินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 ให้สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นคริปโตเคอเรนซีและโทเคนดิจิทัล โดยนิยามของเคอร์เรนซีที่หมายความว่าเงินตรานั้น ยังไม่ได้บัญญัติ และรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของ ประธาน กลต. คนใหม่ Paul Atkins กำลังดำเนินการแยกระหว่างเงินตรากับสินทรัพพย์อยู่นั้น รัฐบาลไทบก็เลือกที่จะใช้นิยาม ดิจิทัลโทเคน ซึ่งใน พรบ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2535 มาตร 4 หรือหลักทรัพย์และพันธบัตรซึ่งรัฐสามารถใช้คู่กันได้ และรัฐก็ถูกจำกัดด้วยเพดานหนี้ และงบประมาณรายจ่ายจากสภาฯอยู่แล้ว

การอ้างว่ากฎหมายหนี้และเงินตราเหล่านี้ออกก่อนการมีเทคโนโลยีนั้น คือตัวอย่างของ Red Tape ที่ชัดเจนที่สุด เพราะนอกจากต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาแล้ว ทำให้ประเทศล้าหลังในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก 
 
3. ชั้น 14 
เหตุ ; อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ให้กลับมาอยู่ในประเทศไทย เพื่อประกอบคุณประโยชน์ ตามพระบรมราชโองการ พระราชหัตถเลขา พระราชทานอภัยลดโทษ ลงในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กันยายน 2566  

ผล ; อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องจำกัดบริเวณ คุมขังอยู่ในพื้นที่คุมขัง จนเข้าข่ายการอภัยโทษ พ้นโทษ 

ปัญหา ; การคุมขังนั้นกระทำที่ชั้น 14 ในโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการคุมขังหรือไม่

ปัญหาของปัญหา ; มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่รวมทั้งก้าวหน้าและอนุรักษ์นิยม ไม่พอใจในการกลับมาของ นายทักษิณ ชินวัตร และไม่ต้องการเห็น บุรุษผู้นี้ทำอะไรให้สำเร็จอีกในประเทศไทย จึงเห็นว่าการคุมขังไม่ยุติธรรมเสมอภาค ได้รับสิทธิพิเศษ ซึ่งในความเป็นจริง นายทักษิณ มีอายุเกิน 70 ปี เป็นอายุตามความเสี่ยงของสุขภาพ ถูกตัดสินโดยศาลที่ทำปฎิวัติเขา และ อำนาจเบ็ดสร็จของรัฐบาลทหาร และเขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งแม้แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ให้สิทธิพิเศษนี้แก่นางอองซาน ซู จี ซึ่งทำให้เกิดประเด็นใหญ่ๆคือเพราะต้องการขีดเทปสีแดงนี้ การยกฟ้องและไต่สวนเองนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามระบอบยุติธรรมหรือไม่ และการวินิจฉัยของแพทยสภาเป็นไปตามจริยธรรมหรือไม่ มีความจงเกลียดจงชังเป็นทุนเดิมหรือไม่ การที่หมอเปิดเผยข้อมูลตามที่จำเป็นก็เป็นไปตามมาตรฐานของแพทยสภาทั่วโลก 

ยกตัวอย่าง Medical Board ในสหรัฐที่มีกฎ HIPAA ไม่เป็นไปตามใจอนุกรรมการ เส้นแดงสองเส้นขีดขึ้นมาใหม่เพื่อเหตุนี้ และอีกหนึ่งคือ การออกมาให้ความเห็นของประธานกสม.ที่มักจะทำเพื่อสิทธิของบุคคล แต่กลับเป็นให้ความเห็นริดรอนสิทธิบุคคล และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเรื่องของระบบแทน 
 
4. สว. เลือกกันเอง 
เหตุ; รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ สว. จากการแต่งตั้งหมดวาระลงตามบทเฉพาะกาล และให้มีการเลือกใหม่จากระบบเลือกกันเอง 

ผล ; มี สว. จำนวนกว่า 138 คนที่ถูกเรียกว่า "สว. สีน้ำเงิน" และที่เหลือเรียกตัวเอง สว.พันธุ์ใหม่บ้างอิสระบ้าง 

ปัญหา ; การเกิด สว.สีน้ำเงิน สร้างน้ำหนักทางการเมืองไปยังพรรคการเมืองหนึ่ง โดยทำให้มีสิทธิในการเลือกองค์กรอิสระที่จะไปทานอำนาจบริหาร 

ปัญหาของปัญหา ; การที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เรียกกระบวนการเข้ามาของ สว. ว่าการเลือกกันเองโดยระเบียบขึ้นกับ กกต. นั้นก็แปลตรงตัวคือเดินเข้าไปเลือกกันเอง หากมีการเรียกพวกไปเลือกได้มากกว่า ก็เลือกกันเองเข้ามาได้มากกว่า แต่ปัญหาคือ สว.หลายคนมีประวัติขัดใจสังคม และมีการสร้างอัตลักษณ์เข้าใจอย่างผิดๆ ทำให้เกิดแบรนด์ดิ้ง ซึ่งเป็นการตลาดชนิดหนึ่ง จนทำให้เกิดความเกลียดและชังระบบ ทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถไว้ใจสว.ที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาสูงได้ ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้เกิดกระบวนการทางการเมืองที่จะต่อกรสว.กลุ่มนี้ โดยไม่สนใจหลักคานอำนาจ ระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้เกิดเทปแดงขึ้นมาใหม่อีก  
 
นี่ยังไม่พูดถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องเสียสละโดนลงโทษจำคุกหรือเสียชีวิต เรียกร้องความยุติธรรมที่มองจากคนละทิศทางกับระบอบยุติธรรมในปัจจุบัน ทำให้ปัญหาย่ำแย่ลงไป ในขณะที่ผู้นำของคนกลุ่มนั้นก็เลือกที่จะมีเทปแดงๆของตัวเอง ในการพุ่งเป้าเพื่อจุดประสงค์เฉพาะกลุ่ม หลายคนให้เหตุว่าปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังทางการศึกษา แต่ไม่ใช่เพราะการศึกษาสูงหรือต่ำ เพราะปัญหาของปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงพอๆกับคนที่มีการศึกษาธรรมดา แต่เป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่มาจากแนวทางการให้การศึกษา อันเป็นแหล่งเกิดของตรรกะที่มักไม่ใช่อยู่บนหลักการ

ขณะที่ผู้เขียนพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาที่ประเทศไทยใช้งบประมาณภาษีประชาชนกว่า 8 แสนล้าน เรากลับเจอปัญหาวังวน เพราะเอางบประมาณถมดินไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นการปรบมือให้ดัง คือเมื่อคนพร้อมเปลี่ยนและระบบพร้อมเปลี่ยน กล้าที่จะเปลี่ยน และปรับจนเข้าที่เข้าทาง คงไม่ต่างกับการลดความอ้วน วิ่งวันเดียวย่อมไม่ทำให้น้ำหนักลดลงได้ เพราะฉะนั้นการออกมาตัดสินใจวิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้ว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทันที ต้องสู้ความเหนื่อยความเจ็บปวดต่อไป 
 
มีคนต่างชาติเคยให้ความเห็นพาดพิงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ว่า ความต้องการสูงสุดของคนที่ประสบความสำเร็จในฟิลิปปินส์ คือ การได้ไปทำงานนอกประเทศ คนที่อยู่ในประเทศ คือคนที่ไปทำงานต่างประเทศไม่ได้ เราคงไม่อยากให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้น  
 
แต่นี่เป็นการเตือนว่า การที่สังคมเราตีกรอบจนไม่สามารถเคลื่อนไปไหนได้ คือการสร้างเหวให้ประชาชนส่วนใหญ่ ในขณะที่เทปถูกขีดโดยคนกลุ่มเล็กๆที่มีพลังมาก การสร้างแรงกดดันมหาศาลให้สังคม ไม่ได้เป็นผลดีต่อความมั่นคงในระยะยาว เหมือนกัน การสร้างตึกที่ผิดหลักวิศวกรรม หรือแรงต้านทานที่แข็งตัว การเกิดแผ่นดินไหวย่อมทำให้โครงสร้างวิบัติขึ้น 

การคงไว้ของประเทศไทย อยู่ที่การออกแบบโครงสร้างและการบริหารที่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ความเสียสละ ไม่ใช่อารมณ์และอำนาจเพียงอย่างเดียว อำนาจที่ใช้ในการเปลี่ยนแบบสตง. หรือ การทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามความต้องการของตนเอง ทำให้สังคมได้รับรู้แล้วว่าผลคืออะไร และอยากให้สังคมได้เรียนรู้เป็นบทเรียน 
 

TAGS: #EntertainmentComplex #GToken #พชรนริพทะพันธุ์