“สมศักดิ์” ยก กม.ให้อำนาจสภานายกพิเศษ ปมมติแพทยสภา ลั่น ไม่อยากให้มีก็ไปแก้

“สมศักดิ์” ยก กม.ให้อำนาจสภานายกพิเศษ ปมมติแพทยสภา ลั่น ไม่อยากให้มีก็ไปแก้
“สมศักดิ์” ตอบไม่ได้ยับยั้งมติแพทยสภาหรือไม่ อ้าง รอข้อมูลก่อนตัดสินใจ ยก กม.ให้อำนาจสภานายกพิเศษ ลั่น ไม่อยากให้มีก็ไปแก้ อัปเดตโควิด-19 สายพันธุ์ XEC ระบาด ระบุ ไม่รุนแรงแต่ต้องป้องกัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแพทยสภาส่งมติมาให้พิจารณาลงโทษแพทย์จำนวน 3 คน กรณีส่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า คณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณาตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่ตนตั้งขึ้น มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับตน ทั้งนี้ การพิจารณาแพทยสภาต้องผ่านคณะกรรมการ 4 ชุด เริ่มต้นคือ คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมชุดเฉพาะกิจ จะเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวมีมติจะส่งให้คณะกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจ เมื่อทำงานจบแล้วจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรอง จากนั้นจะนำเข้าคณะกรรมการแพทยสภาที่มีคณะกรรมการทั้งหมด 70 คน เพื่อดำเนินการในการพิจารณาโทษ ซึ่งตนได้ข้อมูลจากคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด แต่ยังไม่ได้คำตอบ หากได้คำตอบมาแล้วจะมีการพูดคุยและประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ตนตั้งขึ้นตามมาตรา 25 วันนี้ตนยังไม่สามารถบอกข้อมูลได้ว่าจะยับยั้งหรือไม่ยับยั้ง เพราะข้อมูลยังไม่ครบ และยังมีเอกสารที่ต้องเอานำมาเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับที่เริ่มมาตั้งแต่เรื่องจริยธรรม 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลการรักษา ผลสอบของคณะกรรมการจะต้องออกมาจากแพทยสภาใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนดูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตนตามมาตรา 25 และจะรับฟังจากคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษฯ ที่ตั้งมาเป็นหลัก

เมื่อถามว่า อดีตแพทยสภาออกมาตั้งคำถามว่า หากมี พ.ร.บ.แพทยสภาฉบับใหม่ ควรจะให้อำนาจสภานายกพิเศษมีอำนาจในการยับยั้งมติแพทยสภาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า “นั่นสิ กฎหมายเขียนไว้ทำไม ต้องเปลี่ยนสิ งั้นก็ต้องไปเปลี่ยนกฎหมายใหม่ เพราะผมทำตามกฎหมาย ถ้าผมไม่ทำตามกฎหมายก็จะมีความผิด เหมือนกับแพทยสภาถ้าไปพิจารณาแล้วทำให้ผู้ที่ถูกพิจารณาโทษรู้สึกว่าไม่ผิด เขาฟ้องร้อง มันจะเป็นปัญหา เหมือนผมไม่ดำเนินการ ไม่ทำอะไร ปล่อยไว้เฉยๆ ก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้ ถ้าคิดว่าสภานายกพิเศษไม่มีประโยชน์ กฎหมายก็ต้องเปลี่ยน แต่ตรงนี้ผมถูกบังคับด้วยกฎหมาย เลยต้องทำงาน”

เมื่อถามว่า กำหนด 15 วันที่สภานายกพิเศษจะต้องพิจารณามติแพทยสภา จะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าข้อมูลครบก็จะใช้เวลา 15 วันหลังจากได้รับหนังสือจากแพทยสภา ทั้งนี้ จากการขอข้อมูลไปครั้งที่ 2 หากได้กลับมาข้อมูลก็ครบแล้ว ซึ่งจะพยายามไม่ขอขยายเวลา 

เมื่อถามถึงกรณีแพทยสภาแนบเอกสารมาในรายงานว่า นายทักษิณไม่ได้ป่วยวิกฤติ ตรงนี้จะมีการขอข้อมูลเพิ่มอีกหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนตนเข้าใจว่า เขาได้มีการพิจารณาไปหมดแล้ว ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้พูดถึง และมีการเสนอความเห็นมายังสภานายกพิเศษ ทั้งนี้ สำหรับประมวลกฎหมายอาญา 157 เกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด รวมถึงตน และคนที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแต่ละชุด ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาให้ดีตามอำนาจหน้าที่ที่เรามี 

 เมื่อถามว่า ได้อ่านหนังสือของนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจที่ร้องขอความเป็นธรรมหรือยัง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ดูแล้ว จึงตนได้ขอเอกสารจากแพทยสภาว่ามันตรงกับสิ่งที่เขาร้องเรียน ขอร้อง ขอความเป็นธรรมมาหรือไม่ เพราะมันมีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 157 

เมื่อถามถึงกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ระบุหากยับยั้งมติแพทยสภาโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ สภานายกพิเศษอาจโดนมาตรา 157 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คนต้องถูกตรวจสอบโดยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการของแพทยสภาทุกชุด เราต้องระมัดระวังว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควร จะต้องดำเนินการไม่ให้ขัดกับมาตรา 157 เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการแพร่ระบาด โควิด-19 ว่า ปฏิทินของการควบคุมโรคจะนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 จนถึงวันนี้เป็นสัปดาห์ที่ 21 มีผู้ป่วยสะสม 108,891 ราย เสียชีวิต 27 ราย และหากดูย้อนหลังในปี 2567 ในช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้ป่วยสะสม 412,528 ราย เสียชีวิต 121 ราย สำหรับในปี 68 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเสียชีวิต คือกลุ่ม 608 และเป็นผู้สูงอายุสูงถึง 80% รวมถึงกลุ่มเด็ก และพบการระบาดในสาย XEC ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มาจากลูกหลานโอไมครอน แม้โดยรวมไม่รุนแรง แต่แพร่เชื้อได้รวดเร็ว ซึ่งเสี่ยงต่อกลุ่มสูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง แม้อัตราการเสียชีวิตจะน้อยแต่เป็นเรื่องที่เราต้องป้องกัน


 

TAGS: #สมศักดิ์ #แพทยสภา #ทักษิณ #โควิด19 #โควิด