สินค้าเกษตรดิ่ง บาทแข็งทุบซํ้า “ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ทุเรียน” ทิศทางราคาวูบต่อเนื่อง
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ในภาพรวมเวลานี้ราคาข้าวสารส่งออก และราคาข้าวเปลือกในประเทศปรับตัวลดลง โดยราคาข้าวขาว 5% ส่งออกของไทยล่าสุด (22 พ.ค.68) เฉลี่ยที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับปีที่แล้วราคาเฉลี่ยที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และเคยขึ้นไปถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในบางช่วง ขณะที่ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรขายได้เวลานี้ ข้าวเปลือกเจ้า (รอบนาปรัง) เฉลี่ยที่ 6,000-7,200 บาทต่อตัน (ขึ้นกับค่าความชื้น) เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกษตรขายได้เฉลี่ย 12,000 บาทต่อตัน
ราคาข้าวขาวส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลงในเวลานี้ มีปัจจัยสำคัญจากที่อินเดียได้กลับมาส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาว จากปีที่แล้วเขาแบนการส่งออกเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ แต่ปีนี้อินเดียได้ประกาศกลับมาส่งออกข้าวขาวเต็มตัว และตั้งเป้าหมายจะส่งออกข้าวที่ 24 ล้านตัน จากปีที่แล้วส่งออก 17 ล้านตัน ขณะด้านดีมานด์ อินโดนีเซียที่นำเข้าข้าวปีที่แล้วกว่า 4 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำเข้าจากไทยประมาณ 1.4 ล้านตัน ปีนี้เขาประกาศไม่นำเข้า เพราะปีนี้มีผลผลิตข้าวที่ดีในประเทศ และคาดจะเพียงพอต่อความต้องการ
ทั้งนี้หากผลการเจรจาภาษีตอบโต้ออกมาแล้ว ไทยถูกเก็บในอัตราสูง หรือในอัตราที่เสียเปรียบเวียดนาม จะทำให้ไทยส่งออกข้าวไปสหรัฐในปีนี้ได้ลดลง จากผู้บริโภคจะหันไปรับประทานข้าวหอมเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าแทน และอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกหอมมะลิของไทยที่จะมีผลผลิต (ฤดูนาปี) ออกมาในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงข้าวเปลือกชนิดอื่น ๆ ของไทยปรับตัวลดลง ซึ่งต้องจับตาต่อไป
ด้าน นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า ราคายางพาราของไทยในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่สหรัฐประกาศจะเก็บภาษีพื้นฐาน และภาษีตอบโต้ ส่งผลให้ราคายางพาราของไทยในทุกรายการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเกือบ 30% อย่างไรก็ดีหลังสหรัฐประกาศชะลอการขึ้นภาษีตอบโต้ไทยออกไป 90 วัน และประกาศปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนลงเหลือ 30% ทำให้เวลานี้การค้ายางของไทยและของโลกมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้ราคายางที่เคยลดลง 30% เวลานี้ปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 20%
โดยราคาน้ำยางสดเวลานี้ เฉลี่ยที่กว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ยางก้อนถ้วย กว่า 50 บาทต่อ กก. ยางแผ่นดิบ 66 บาทต่อ กก. ยางแผ่นรมควัน 69 บาทต่อ กก. ซึ่งเทียบกับราคาช่วงเดียวกันของปีที่แล้วราคาถือว่าปรับตัวลดลง ทิศทางราคายางพาราไทยนับจากนี้ยังไม่แน่นอนว่าจะปรับตัวดีขึ้นหรือลดลง ซึ่งปัจจัยสำคัญคงต้องรอดูผลการเจรจาไทย-สหรัฐเรื่องภาษีตอบโต้ ที่จะครบกำหนด 90 วันที่สหรัฐได้ชะลอออกไปถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 และการลดภาษีสินค้าจีนลงเหลือ 30% ที่จะครบ 90 วันในวันที่ 9 สิงหาคม 2568 ว่าสุดท้ายแล้วนโยบายของสหรัฐจะเป็นอย่างไร
หากครบ 90 วันที่สหรัฐลดภาษีให้จีนเหลือ 30% และยังทำสงครามการค้า หรือขึ้นภาษีกันต่อ อาจมีผลต่อราคายางพาราในประเทศและราคายางส่งออกของไทย เพราะทั้งสหรัฐและจีนเป็นตลาดส่งออกหลักยางพาราของไทย (ปี 2567 ไทยส่งออกยางพารามูลค่า 175,209 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปจีนสัดส่วน 30% ไปสหรัฐ 11%) ซึ่งโดยส่วนใหญ่นำไปผลิตยางล้อรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง
นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันในเดือนพฤษภาคมได้ออกมาจำนวนมาก โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่าปี 2568 ผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพฤษภาคมจะมีประมาณ 2.302 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 0.414 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเดือนเมษายน แต่หลังจากนี้ไปอีกประมาณเดือนกว่าผลผลิตจะเริ่มลดน้อยลง
ส่วนทางด้าน นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาทุเรียนเกรดส่งออกปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 105–115 บาทต่อ กก. แม้ยังถือว่าเป็นราคาที่เกษตรกรยังมีกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่เฉลี่ยอยู่ราว 30 บาทต่อ กก. ทั้งนี้หากสภาพอากาศยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวที่เหลืออยู่กว่า 50% ก็อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพและราคาตลาดมากยิ่งขึ้น เวลานี้ราคาทุเรียนก็ลงไปเยอะ เพราะว่าฝนตกหนักทำให้ทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ผู้ส่งออกเริ่มกังวลมีความเสี่ยงสูงขึ้น ราคาซื้อหน้าล้งก็ขยับลงเพราะกลัวขาดทุน แต่ราคาก็ยังถือว่าไม่ต่ำมาก อีกทั้งต้องรอดูสภาพอากาศซึ่งไม่มีความแน่นอน หากฝนตกเยอะขึ้นคุณภาพของทุเรียนก็น่าจะแย่ลง เพราะว่าปีนี้ผลผลิตมาก ด้านมังคุด เจอประสบปัญหาเนื้อแก้วไหลทําให้คุณภาพมังคุดแย่เหมือนกัน
ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าในปี 2568 ภาคเกษตรจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ๆ แม้ว่าในปี 2568 ผลผลิตเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง
สะท้อนจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสแรกลดลง 1.0% เทียบกับการขยายตัว 7.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกที่ลดลง 8.2% ต่อเนื่องจาก 4.7% ในไตรมาสก่อน นับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3
สศช. คาดว่าราคาข้าวในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลเนื่องจากสถานการณ์ผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกทั้งอินเดียและเวียดนามที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่งผลให้สต๊อกข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยที่ลดลง 41.2% 2.4% และ 21.8% ตามลำดับ
สำหรับมันสำปะหลังที่ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อผลิตอาหารสัตว์ลดลงจนส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวลดลง ส่วนราคาอ้อยปรับตัวลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก
ขณะที่ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ช่วงไตรมาสแรกปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของไทยในภาพรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยข้าวส่งออกมูลค่า 38,586 ล้านบาท ลดลง 33%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 27,384 ล้านบาท ลดลง 17%, ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง 23,077 ล้านบาท ลดลง 5% ขณะที่ยางพาราส่งออก 8,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39%