"ประเสริฐ" มั่นใจไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน "The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025" เตรียมเปิดศูนย์ AI Governance Practice Center ยกระดับศักกยภาพประเทศสู่ศูนย์กลางพัฒนา AI ของภูมิภาค
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงผลการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดการประชุมวิชาการ ‘The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ครั้งที่ 3/2568 ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการจัดการประชุมเข้าร่วม ณ ห้องประชุม สำนักงานใหญ่ NT เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/2568 ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งผลักดันแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศ AI ให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน AI แห่งภูมิภาค และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้มีจำนวนเพียงพอครอบคลุมทุกระดับของการใช้งาน ทั้งภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เกษตรกรรม ทางการแพทย์ ฯลฯ รวมถึงการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ทั้งส่งเสริมการลงทุนระบบ Cloud Data Center, ระบบประมวลผล GPU, การพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เปิด (Open Source AI Platform) ให้เพียงพอ และจัดตั้ง Data Bank โดยผลักดันข้อมูลภาครัฐสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบภายในปี 2569
“การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ‘The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025’ ระหว่างวันที่ 24–27 มิถุนายน 2568 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นับเป็น โอกาสสำคัญของประเทศ ในการแสดงบทบาทเชิงรุกบนเวทีโลกด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาลของ AI ซึ่งเวทีนี้จะเปิดโอกาสให้ไทยได้แสดงศักยภาพความพร้อมด้านนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พร้อมยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรมในระดับภูมิภาค โดยมี 2 จุดเน้นสำคัญที่ไทยจะนำเสนอในเวทีนี้ ได้แก่ การอัปเดตแผนการขับเคลื่อน โครงการ AI Governance Practice Center ศูนย์กลางการพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI Governance แห่งแรกของอาเซียนที่จะเป็น Hub มุ่งส่งเสริมศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนาเกิดการนำแนวทางนโยบายและจริยธรรมของ UNESCO ไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมถึงการนำเสนอ Monitoring Dashboard of Thailand เครื่องมือโมเดลต้นแบบการพัฒนาจริยธรรม AI เพื่อสนับสนุนการกำกับดูแล AI อย่างยั่งยืน สอดคล้องตามมาตรฐานสากล” นายประเสริฐ กล่าวย้ำ
พร้อมกันนี้ ในที่ประชุม ยังได้มีการอัปเดตความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการจัดงาน ที่ล่าสุด ได้รับเกียรติจาก Ms. Audrey Azoulay, Director-General of UNESCO ที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมฯ อย่างเป็นทางการ ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความสำคัญของเวทีนี้ในระดับโลก และความเชื่อมั่นที่มีต่อบทบาทของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความพร้อมของการจัดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นข้างเคียงในรูปแบบ Side Event ควบคู่กับการประชุมวิชาการ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน และภาคการศึกษา ได้มีส่วนร่วมไปพร้อมๆ กัน ผ่านหลากหลายกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้ง 4 วัน อาทิ นิทรรศการและการสาธิตนวัตกรรมด้าน AI โดยภาคเอกชน, กิจกรรม AI Pitching ภายใต้หัวข้อ ‘Beyond Green: AI for a Thriving Future Pitch Competition’ จัดโดย AI Engineering Institute (AIEI) และ CMKL University ซึ่งมีผู้สมัครจากทั่วโลกกว่า 280 โครงการ, กิจกรรม Call for Papers โดยมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเปิดรับบทความทางวิชาการ เพื่อนำเสนอและอภิปรายร่วมกันในงาน โดยขณะนี้มีผู้ส่งผลงานแล้วกว่า 500 ชิ้น , การแข่งขัน AI Project ระดับมัธยมศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่เยาวชนรุ่นใหม่ , กิจกรรมจาก CNBC Business Event ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงงานกับภาคการลงทุนและเศรษฐกิจ AI ของประเทศไทย เป็นต้น เพื่อร่วมกันยกระดับกรุงเทพมหานคร ให้เป็น ‘ศูนย์กลางด้านจริยธรรมและนโยบาย AI’ แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้ร่มใหญ่ ‘Bangkok AI Week 2025’ ที่ทุกภาคส่วน จะมาร่วมกันขับเคลื่อนอนาคตของ AI ที่โปร่งใส เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง