"จอน อึ้งภากรณ์" อดีต สว.กทม. เสียชีวิตในวัย 77 ปี

"จอน อึ๊งภากรณ์" อดีต สว.กทม. ผู้ก่อตั้ง iLaw และประชาไท ผู้มีส่วนร่วมในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในสังคม เสียชีวิตในวัย 77 ปี

เพจเฟซบุ๊กประชาไท รายงาน จอน อึ้งภากรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวประชาไทเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักในวัย 77 ปี

จอน  อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2490 เป็นบุตรชายคนโตของป๋วย  อึ๊งภากรณ์ และมาการ์เร็ต  อึ๊งภากรณ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัย Sussex ประเทศอังกฤษ

หลังจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จอน อึ๊งภากรณ์ ได้มาเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ให้กับนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ 5 ปี ซึ่งนับเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงที่สนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาอย่างดียิ่ง

ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 บรรยากาศในสังคมการเมืองไทยเข้าสู่ช่วงอึมครึมที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ เขาต้องไปอยู่ประเทศอังกฤษกับบิดา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และในช่วงนั้นเองตัวเขา บิดา น้องชาย และคนไทยในอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือ "มิตรไทย" เพื่อเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ในประเทศไทยให้กับคนไทยในต่างแดนและประชาคมโลก รวมทั้งให้การติดต่อช่วยเหลือกับนักศึกษาที่หลบหนีภัยการเมือง  

หลังจากนั้นชีวิตของเขาได้หวนกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งในตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) คนแรก ในสมัยเดียวกับที่ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองผู้อำนวยการ และใช้เวลาในมอส.เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมทำงานกับชุมชนและชนบทเป็นเวลากว่า 10 ปี

ก่อนจะผันตัวเองมาทำงานในโครงการเข้าถึงเอดส์ (ACCESS) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ และให้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อในสังคมไทย เนื่องจากในยุคแรกๆ ที่สังคมไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์เอดส์นั้น ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้แรงงาน พนักงานให้บริการทางเพศ ที่ได้รับเชื้อถูกประณามและตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา กระทั่งมีความพยายามที่จะละเมิดสิทธิ์ผู้ติดเชื้อด้วยการกักบริเวณ ทำให้จอนและเอ็นจีโอจำนวนมากประท้วงแนวคิดดังกล่าว และยกเรื่องเอดส์กับปัญหาสิทธิมนุษยชน เป็นจุดยืนในการทำงานเรื่อยมา และต่อมาเขาได้ร่วมก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ในปี 2534 - 2543

ในปี 2543  จอนเคยได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพและดำรงตำแหน่งอยู่ถึงปี 2549

ต่อมาในปี 2547 เขาและกลุ่มเพื่อนได้ร่วมกันก่อตั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท ต่อมายังร่วมก่อตั้งองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายองค์กรเช่น iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ในปี 2552

“ความคิดเรื่องการทำหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นนานแล้ว ถ้าถามว่ามีเหตุการณ์อะไรที่เป็นแรงผลักดันให้สนใจที่จะทำสื่อ เป็นเหตุการณ์ชัดๆคงไม่มี แต่เป็นความรู้สึกจากสถานการณ์ภาพรวมว่าสื่อมวลชนบ้านเราไม่เป็นอิสระ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ บรรยากาศของสื่อมันกลับไปคล้ายยุคเผด็จการทหาร

ในปี 2548 จอนได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ ประจำปี 2548 และนำส่วนหนึ่งของรางวัลมาก่อตั้งกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร เพื่ออุทิศแด่การทำงานในสังคมที่นักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนเปิดโปงความจริงอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ในปี 2550 จอนเคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาจากคณะรัฐประหาร คมช. เพราะเห็นว่าการเร่งรีบเกินกว่าเหตุและกฎหมายหลายฉบับที่ได้มีความพยายามผลักดันในเวลานั้นเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายต่างๆ และทำให้เขาถูกดำเนินคดีตามมาร่วมกับบุคคลอื่นๆ ที่รู้จักกันว่าคือ “คดีปีนสภา”

TAGS: #จอนอึ้งภากรณ์ #ประชาไท #iLaw #อดีตสว.กทม.