โดย...สมาน สุดโต
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ โปรดเล่าเรื่อง ความเป็นมาของวัดญาณเวศกวัน ในหนังสือ วัดญาณเวศกวัน 25 ปี เมื่อยังมีหลวงลุงฉาย พิมพ์เป็นที่ระลึก ในงานบำเพ็ญกุศล สรีรฌาปนากาลพระครูสังฆรักษ์ฉาย ปญญาปทีโป เมื่อวันที่ 2- 3 ธันวาคม 2566
พระครูสังฆรักษ์ฉาย เป็นพระรูปหนึ่ง ที่ร่วมเดินทางออกมาจากวัด ที่เป็นต้นสังกัดเดิมในกรุงเทพฯ เข้ามาพัก ณที่ตั้งวัดญาณเวศกวันตั้งแต่แรกเริ่มสร้างวัดญาณเวศกวัน ซึ่งอยู่ด้านหลังพุทธมณฑลจังหวัดนครปฐม
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เคยพำนักถาวร ณ วัดพระพิเรนทร์ วรจักร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เป็นสามเณรเล็กๆ จนกระทั่งเป็นสามเณรนาคหลวง ปี พศ .2504 เมื่อสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ในขณะเป็นสามเณร
ที่วัดนี้พระเดชพระคุณสร้างผลงานทางวิชาการ จำนวนมาก รวมทั้งหนังสือพุทธธรรม ที่กล่าวกันว่าเป็นยอดวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาประจำศตวรรษ
จนกระทั่ง พศ 2529 ท่านต้องย้ายออก จากวัดพระพิเรนทร์ ที่อยู่มายาวนาน เนื่องจากโรคปอดเรื่องเก่า จากการเป็นวัณโรคร้ายแรง จนกระทั่งไอเป็นเลือดมากมาย หายโรคแล้ว แต่สภาพปอดเสียหายเช่นมีพังผืดแผลเป็นมากมาย
ทนอากาศเสียในวัดพระพิเรนทร์ซ้ำเติมมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2529 มีอาการร้ายแรงถึงขั้นแทบจะพูดไม่ออกและพูดนิดหน่อยก็จะเจ็บหน้าอกเป็นประจำ
ญาติโยมผู้ใหญ่ที่หวังดีบอกว่า อยู่ที่นั่นต่อไปไม่ได้แล้ว ได้ช่วยกันหาที่ใหม่ จนได้สถานที่เหมาะสมนอกเมือง นิมนต์ไปพำนักที่ศาลากลางสระน้ำอำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี ของคุณบุญจิต คุณสายใจ หลิมสุนทร เป็นที่พักชั่วคราว ก่อนจะได้ที่อยู่อาศัยถาวรต่อไป
โดยนิมนต์พระมหาอินศร จินตาปัญโญ (เป็นพระราชาคณะที่พระมงคลธีรคุณ แต่มรณภาพที่ประเทศอินเดีย 27 กุมภาพันธ์ 2567 ขณะที่นำญาติโยมไปบูชาสังเวชนียสถาน และหลวงลุงฉาย(มรณภาพ 25 สิงหาคม 2557)ไปเป็นเพื่อนคือเป็นเพื่อนในความหมายอย่างเป็นเพื่อนเดินทางไกลเป็นเพื่อนไป ในที่เปลี่ยว โดยพักที่ศาลากลางน้ำ 3 ปี จนญาติโยมหาที่สร้างวัดจนยุติที่วัดญาณเวศกวันแล้ว
ระหว่างก่อสร้างวัด ไดัไปพำนักชั่วคราวที่สายใจธรรมติดต่อ 5 พรรษา จนกระทั่งทางการประกาศตั้งวัดญาณเวศกวัน ใน พ.ศ. 2537
พระทั้ง 3 รูปจึงจำพรรษา ตั้งแต่ พ.ศ.2538
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2568 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดญาณเวศกวันขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ พร้อมกับวัดอื่นๆ อีก 11 วัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567
เมื่อวัดยกฐานะเป็นพระอารามหลวง การเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎ์จึงยุติเมื่อจะเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง จึงตัองโปรดเกล้าฯ ตั้งใหม่
ในการประชุม กรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่ประชุมรับทราบตามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นำความถวายพระพร เพื่อทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน พระอารามหลวง
ส่วนเจ้าอาวาส 11 วัดที่ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ให้พระสังฆาธิการฝ่ายปกครอง ดำเนินการตาม กฎ มส. ต่อไป
วัดญาณเวศกวันเป็นวัดที่มีความสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและเป็นแหล่งศึกษาปฏิบัติธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย