เวิร์คช็อป Thailand Zero Dropout ตั้งเป้าพาเด็กเข้าระบบการศึกษา 1.02 ล้านคน

เวิร์คช็อป Thailand Zero Dropout ตั้งเป้าพาเด็กเข้าระบบการศึกษา 1.02 ล้านคน
กสศ.คิ๊กออฟ 25 จังหวัดนำร่องค้นหาเด็กหลุดระบบการศึกษา ปักธง Thailand Zero Dropout ภายในปี'70 ดึงภาคเอกชนมาร่วมบูรณาการพร้อมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์(Thailand Zero Dropout) ในหัวข้อเสวนา ‘มาตรการและแนวทางขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout ตามมติคณะรัฐมนตรี’ ว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางและมาตการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้กับหน่วยงานระดับพื้นที่  รวมถึงการแนะนำการใช้งานระบบสารสนเทศ เครื่องมือ และกระบวนการ สนับสนุนหน่วยงานระดับพื้นที่ใช้ดาเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์

ทั้งนี้ได้มีการจัดทำบันได 5 ขั้นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ  คือ1.สำรวจข้อมูลเด็กที่อยู่นอกระบบให้กลับคืนสู่ระบบการศึกษา 2.นำเด็กเหล่านี้ผ่านกระบวนการสหวิชาชีพ  3.สนับสนุนการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมีทางเลือกอะไรบ้าง 4.อยากส่งต่อให้กับหุ้นส่วนที่เป็นภาคเอกชนที่อยู่นอกเครือข่ายการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาบูรณาการ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี  และ 5.เด็กเหล่านี้เมื่อเข้าระบบจะเป็นกำลังสำคํญในการพัฒนาประเทศ

 

“วันนี้ต้องการให้ 25 จังหวัดนำร่องคิ๊กออฟในการเดินหน้าโครงการครั้งนี้ โดยนายกรัฐมนตรีต้องการแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา กว่า  1 ล้านคนให้เหลือเป็นศูนย์ภายในปี 2570 โดยผ่านมาตรการที่ได้จัดทำขึ้น”

 

นายสิริพงศ์   อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ   กล่าวว่า กระทรวงศึกษาพยายามขับเคลื่อนเต็มที่กลับโครงการนี้โดยได้จัดทำมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout โดยมี 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่1.มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา 

2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม

 

 3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและการพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง และ4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn

 

“ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีมติครม.ในเรื่องมาตรการต่างๆทราบว่าจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้แล้ว 13 % หรือคิดเป็น  1 แสนกว่าคนแล้ว  และจะเป็นสารตั้งต้นที่จะทำให้ไม่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในอนาคต”

TAGS: #Thailand #Zero #Dropout #กสศ.