ทนายความโรงสีข้าว จ.สุรินทร์ ร้อง รัฐบาล ตรวจสอบเอกสาร สตง. หลัง หมอวรงค์แอบอ้าง พยายามชี้นำสังคมว่าข้าวเปียกน้ำเป็นข้าวโกดังเดียวกับโครงการจำนำข้าว
วันที่16 พ.ค.2567 ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับเรื่องร้องเรียนรับจาก นส.ทักษิณา ทับครบุรี ทนายความบริษัทโรงสี ส. ชัยเจริญ จำกัด โดยขอให้รัฐบาลตรวจสอบการใช้เอกสารของ นพ.วรงค์ เดชวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภัก ที่อ้างว่าได้มาจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และหากเป็นเอกสารจริง ชัดเจนหรือไม่ว่าเป็นเอกสารข้าวที่โกดัง จ.สุรินทร์ ตามปรากฏในข่าว
โดยก่อนที่จะเริ่มแถลงข่าว นายสมคิด และนายชัย ได้ย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ที่มายื่นหนังสือวันนี้ พวกเราไม่เคยรู้จักมาก่อน
นส.ทักษิณา กล่าวว่า นพ.วรงค์ อ้างว่าเป็นเอกสารจาก สตง. ยังใช้เอกสารตัวนี้ในการไปออกสื่อว่า เป็นรายงานผลการตรวจข้าวในโกดัง จ.สุรินทร์ เมื่อปี 58 เกี่ยวกับสต๊อกข้าวที่เหลือจากโครงการรับจำนำข้าว ในเอกสารระบุว่า ข้าวเปียกน้ำจนไม่สามารถตรวจนับได้ มูลค่า 693 ล้านบาท ซึ่ง นพ.วรงค์ พยายามพูดชี้นำสังคมให้เข้าใจว่าข้าวเปียกน้ำอยู่ในสต๊อกข้าวโกดัง จ.สุรินทร์ ทั้ง 2 แห่งที่เป็นประเด็นอยู่ ซึ่งข้อเท็จจริงข้าวในสต๊อกข้าว จ.สุรินทร์ มูลค่าไม่เกิน 300 ล้านบาท ทั้งที่ในเอกสารไม่มีการระบุว่ามา จ.สุรินทร์ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยตรวจสอบว่าได้เอกสารมาอย่างไร และชี้แจงให้สังคมได้รู้ว่าเป็นจริงตามเอกสารที่กล่าวอ้างหรือไม่
“นพ.วรงค์ พยายามจะสื่อว่า ข้าวในโกดังเปียก แต่เมื่อเปิดดูพบว่าข้าวเรียงตัวสวย เหมือนมีการจัดฉากหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงหากข้าวเน่าจะเป็นผลดีกับผู้ประมูล เพราะจะสามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่ในข้อเท็จจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น การที่ขอยกเลิกสัญญาเพราะชนิดข้าวไม่ตรงปก ไม่ได้คุณภาพ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอด ไม่เกี่ยวกับการนำข้าวขาวใส่ ส่วนเรื่องทางกฎหมายใหัเป็นหน้าที่ของรัฐบาล”
นายสมคิด ยอมรับว่า เพิ่งเห็นรายละเอียด หากไม่คิดอะไรมาก คือข้าวไม่เน่า กินได้ไม่ได้อีกเรื่อง แต่ 10 ปี เปิดดูข้าวไม่เน่า หลังจากนี้จะทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ให้ส่งกลับมายังรัฐบาล เพื่อจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่างต่อไป