รมว.พม. เผย คณะกรรมการคุ้มครองเด็กฯ เตรียมจัดทำแผนคู่มือกลางสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยง ชี้ การลดเพดานอายุเด็กที่กระทำผิด ไม่ใช่การป้องกันปัญหา
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เผย ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาการปรับปรุงกฎหมายลำดับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และหารือแนวทางการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดและเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่อายุไม่ถึงเกณฑ์ต้องรับโทษทางอาญา ได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายพูดถึงการลดเพดานอายุเด็กที่กระทำผิดให้ต่ำลงจากเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ที่อายุ 12 ปี ซึ่งที่ประชุมมีมติตรงกันว่าการลดเพดานอายุเด็กไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการป้องกันปัญหา เพราะการลดอายุต่ำกว่า 12 ปี เป็น 9 – 11 ปี ไม่สามารถการันตีได้ว่าเมื่อลดอายุแล้วเด็กจะไม่ก่อเหตุ ในอนาคตเราอาจจะเห็นผู้กระทำผิดที่อายุต่ำกว่า 9 ปีก็เป็นได้ ยืนยันการลดอายุไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหา อีกทั้งที่ประชุมได้พูดถึงแนวทางการป้องกันโดยนำข้อมูลของแต่ละพื้นที่มาร่วมกันดูแลผ่านคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ซึ่งเป็นหน้าที่ที่แต่ละจังหวัดต้องไปสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ การใช้กำลังรังแก เด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ใหญ่แต่ละพื้นที่ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) รวมถึงกระทรวง พม. จะต้องสแกนเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ และเข้าไปร่วมกันป้องกันด้วยการพูดคุยกับตัวเด็ก รวมถึงครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ก้าวข้ามเส้นขีดแบ่งจากเด็กกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นเด็กกระทำความผิด ทั้งนี้ หัวใจสำคัญคือการป้องกันปัญหา การสแกนแต่ละพื้นที่ การทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียน และกระทรวง พม. ที่ต้องเข้าถึงเด็กแต่ละคนเพื่อป้องกันความรุนแรงรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้น
เมื่อถามว่าจะสามารถประเมินได้อย่างไรว่าการสแกนเด็กจะทำให้เด็กกลุ่มเสี่ยงไม่กลายเป็นเด็กกระทำผิดก่อความรุนแรง ทั้งนี้ การได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กแต่ละเคสแต่ละครอบครัวนั้น ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่โอกาสที่จะเกิดจะน้อยลงหากเราสามารถปรับความคิดของเด็ก ไม่ว่าจะผ่านการพูดคุยกับผู้ปกครอง การพูดคุยกับตัวเด็กเอง หรือเพื่อนรอบตัวเด็ก เพื่อบรรเทาสถานการณ์ลง อย่างน้อยเราจะได้เรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไร หากแนวโน้มดีขึ้นก็จะได้โฟกัสกับกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะข้ามเส้นกลายเป็นผู้กระทำผิด รวมไปถึงการใช้สารเสพติดด้วย เพราะวันนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงมากมาย เป็นสิ่งที่ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยหารือถึงแนวทางการดำเนินการรวมฐานข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการทำงานที่เป็นมาตรฐานหรือคู่มือกลางในการดำเนินการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มีการจัดทำแผนการทำงานที่เป็นมาตรฐาน โดยมอบหมายให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลของทุกหน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนต่อไป อย่างไรก็ตามคณะกรรมการคุ้มครองครองเด็กจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้ขอให้ดำเนินการทันทีในการลงไปสแกนเด็กแต่ละพื้นที่ ส่วนผลนั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการพูดคุยกับเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะมีการแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) เด็กกลุ่มเสี่ยง 2) เด็กที่กระทำความผิดแล้ว และ 3) เด็กที่กระทำผิดแล้วและมีการส่งตัวเข้ารับการดูแลในบ้านพักเด็กและครอบครัว หรือแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องป้องกันไม่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวว่า กรณีเด็กที่ก่อเหตุมักจะถูกโยงว่าเป็นเด็กพิเศษนั้น เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเวลาเกิดเหตุเราจะเห็นหลายครั้งจะมีการประเมินสภาพจิตใจเด็กและดูว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องของทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ นักจิตวิทยา เป็นผู้ประเมิน คงไม่สามารถอ้างได้ว่าสภาพจิตใจไม่ปกติกลายเป็นเด็กพิเศษ เชื่อว่านักจิตวิทยาหรือทีมสหวิชาชีพมีมาตรการในการประเมินว่าเด็กคนนั้นๆ มีสภาพจิตเป็นอย่างไร และสามารถบ่งชี้ว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่ หากเป็นเด็กพิเศษก็จะมีมาตรการดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนพฤติกรรมการเลียนแบบนั้นคงต้องฝากสื่อมวลชนเช่นกัน เพราะเวลาเกิดเหตุความรุนแรง การนำเสนอข่าว ภาพ รายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะบางครั้งอาจไม่ต้องนำเสนอรายละเอียดทั้งหมด เพราะอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ การเลียนแบบก็คงไม่สามารถระบุว่าได้จะเกิดการเลียนแบบที่อายุ 8 ขวบ 12 ขวบ 15 ขวบ หรือ 17 ขวบ ตนเชื่อว่าการจำกัดการนำเสนอรายละเอียดข่าวจะช่วยได้พอสมควร