ก.ล.ต. ออกเกณฑ์ ‘โทเคนดิจิทัลรัฐบาล’ เพิ่มทางเลือกและโอกาสการลงทุน มีผลบังคับใช้วันที่ 21 ก.ค.68 นี้

ก.ล.ต. ออกเกณฑ์ ‘โทเคนดิจิทัลรัฐบาล’ เพิ่มทางเลือกและโอกาสการลงทุน มีผลบังคับใช้วันที่ 21 ก.ค.68 นี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) เพื่อสนับสนุนการเพิ่มทางเลือกและโอกาสด้านการออมและการลงทุนของประชาชนอย่างทั่วถึง (financial inclusion) รวมถึงการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการระดมทุน โดยมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมและเกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน และมีกลไกในการดูแลผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2568

ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ G-Token เพื่อสนับสนุนการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ
ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐ รวมถึงเพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสด้านการออมและการลงทุนของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัลผ่านช่องทางโทเคนดิจิทัล และเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตามที่คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 มีมติอนุมัติการดำเนินการของกระทรวงการคลังในการออกและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ G-Tokenซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยวิธีการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 (พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ) โดยการกู้เงินดังกล่าวเป็นไปตามกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องแล้ว และผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางตามที่เสนอ

ก.ล.ต. จึงออกประกาศเพื่อออกหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้

​1. การกำหนด G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลเพิ่มเติมภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กล่าวคือ กำหนดประเภทโทเคนดิจิทัลเพิ่มเติมเพื่อนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐ โดยเป็นโทเคนดิจิทัลที่ออกและดำเนินการโดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นการกู้เงินด้วยวิธีการอื่นใดตาม พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ โดยมีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและผลตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด

​2. การยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย G-Token รวมถึงไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน และไม่ต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง

​3. การยกเว้นการขอใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ได้แก่ (1) ยกเว้นการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Broker) ให้แก่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Exchange) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Dealer)สำหรับการให้บริการเกี่ยวกับ G-Token และ (2) ยกเว้นการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ G-Token ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (บล.) ตามประเภทใบอนุญาตที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับอนุญาต โดยกำกับดูแล บล. ผ่านหลักเกณฑ์การประกอบกิจการอื่น ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

​4. การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการ G-Token ได้แก่ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำและบริการลูกค้า การรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้า และกำหนดแนวทางการเปิดเผยราคาอ้างอิง (indicative price) รวมถึงหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับ DA Exchange เกี่ยวกับการทำสัญญา การเปิดเผยข้อมูล และการลงทุนใน G-Token ด้วย

TAGS: #ก.ล.ต. #โทเคนดิจิทัลรัฐบาล #TokenDigital #การลงทุน