"บุรินทร์" จี้รัฐฯ แก้ปัญหา Long Term!! หวังดึงธุรกิจใหม่เข้าไทย

"บุรินทร์" จี้รัฐฯ แก้ปัญหา Long Term!! หวังดึงธุรกิจใหม่เข้าไทย

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า คาดประเทศไทยในสายตาสหรัฐฯ ถือว่ายังเป็นพันธมิตรที่ดี และไม่ได้เอาเปรียบสหรัฐฯ จากการเปิดตลาดให้มีสินค้านำเข้าพอสมควร แต่ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดได้มากกว่านี้ อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตร พร้อมมองว่ารัฐบาลฯ จำเป็นต้องช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยควบคู่ด้วย

อีกทั้งมองว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนดัชนีร่วงหลุด 1,270 จุด นั้น เกิดจากนักลงทุนไม่มั่นใจในเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน และภาคการเมืองถึงความโปร่งใสในการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล โดยมองว่ารัฐบาลควรแก้ไขปัญหาภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือปัญหาระยะยาวของประเทศไทยเพิ่มเติมนอกเหนือจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมจี้ภาครัฐฯ ควรมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจใหม่ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ภายในประเทศให้มีความแข็งแกร่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ม.ค.68 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.32% (YoY) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ม.ค.68 เร่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 0.83% (YoY) โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ม.ค.67 

ในขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศในเดือนม.ค. 67 ถูกตรึงอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับ 33 บาทต่อลิตรในเดือนม.ค. 68 ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในเดือนม.ค. 68 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 80 ดอลลาร์ฯ/ บาร์เรล 
ส่วนราคาอาหารบางรายการปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า อาทิ ผลไม้สด เครื่องปรุงรส และเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคามะพร้าวซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและจากโรคหนอนแมลงมะพร้าวระบาด

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงหลังจากปัจจัยฐานต่ำของ Q1/68 นั้นหมดไป ส่งผลให้ศูนย์วิจัยยังคงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 68 อยู่ที่ 0.7% โดยฐานเงินเฟ้อทั่วไปใน Q1/67 อยู่ที่ -0.78% (YoY) ขณะที่ในช่วงไตรมาส 2-4 ของปี 67 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปพลิกกลับมาเป็นบวก ส่งผลให้เงินเฟ้อในไตรมาส 2-4 ของปีนี้มีแนวโน้มปรับลดลง รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจปรับลดราคาพลังงานในประเทศ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลงจากอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และอุปสงค์โลกที่ชะลอตัว แม้ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงมีอยู่ 
พร้อมประเมินเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงหลังจากมาตรการกระตุ้นจากทางภาครัฐใน Q1/68 นั้นหมดไป ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
 

TAGS: #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #รัฐบาล #. #KBANK