ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยรอบสัปดาห์ เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนหลังร่วงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี 9 เดือน
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า แม้เคลื่อนไหวผันผวนในระหว่างสัปดาห์
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือนครึ่งที่ระดับ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เดือนก.ค. ออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดซึ่งหนุนโอกาสการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมเดือนก.ย. นี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่าในช่วงกลางสัปดาห์ตามปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ หลังจากที่ตัวเลขดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดออกมาส่งสัญญาณว่าแม้เฟดอาจมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้ แต่ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ ณ ขณะนี้
เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ตามสัญญา ณฟันด์โฟลว์ซื้อพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการทะยานขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่แรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ยังออกมาดีช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยของสหรัฐฯ
ในวันศุกร์ที่ 9 ส.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 35.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ส.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 5-9 ส.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 423 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีกถึง 34,445 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 34,945 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (12-16 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ ระดับ 34.90-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัจจัยทางการเมืองของไทย ทิศทางเงินเยนและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ค.
ผลสำรวจภาคการผลิตจัดทำโดยเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนส.ค.
นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของอังกฤษ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของยูโรโซน ญี่ปุ่น และอังกฤษ และตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนก.ค. อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราการว่างงาน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของสัปดาห์หุ้นไทยร่วงลงแรงเกือบ 40 จุดและแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี 9 เดือนที่ 1,273.17 จุดในช่วงต้นสัปดาห์ โดยการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยสอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯหลังข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ หลายตัวออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม
หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นบางส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มสื่อสารจากประเด็นผลประกอบการที่ออกมาค่อนข้างดีและการประกาศจ่ายปันผล และกลุ่มพลังงานที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยในช่วงปลายสัปดาห์ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีวันหยุดยาวและนักลงทุนยังรอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศในสัปดาห์หน้าอย่างใกล้ชิด
ในวันศุกร์ที่ 9 ส.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,297.07 จุด ลดลง 1.22% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 43,273.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.27% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.27% มาปิดที่ระดับ 312.00 จุด
สัปดาห์ถัดไป (12-16 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยจำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,310 และ 1,320 จุด ตามลำดับ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศ ผลประกอบการไตรมาส2/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีกและข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร