ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 4 พันธมิตร ผลิตบทวิเคราะห์รายอุตสาหกรรม เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน พร้อมชูศักยภาพธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งส่งเสริมความรู้และเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยปัจจุบันพบว่า มีหลายอุตสาหกรรมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีทิศทางการเติบโต แต่ยังขาดบทวิเคราะห์หรือรายงานการวิเคราะห์เชิงอุตสาหกรรม
โดยบทวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมตามความนิยมหรือที่มีความต้องการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตงานวิเคราะห์วิจัย จัดทำ “โครงการรายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมแยกตามรายธุรกิจ” เพื่อส่งเสริมการจัดทำรายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มการรับรู้และชูความน่าสนใจให้แก่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ควบคู่การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนแก่ผู้ลงทุนในวงกว้าง
สำหรับ “โครงการรายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมแยกตามรายธุรกิจ” ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับความร่วมมือจาก 4 พันธมิตร ได้แก่ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยคอมพาส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และบริษัท ทริสเรทติ้ง จํากัด ในการผลิตรายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมแยกตามรายอุตสาหกรรมจำนวนรวม 70 ฉบับ ภายในระยะเวลาความร่วมมือ 1 ปี 6 เดือน
ซึ่งครอบคลุม 70 ธุรกิจ โดยมีเนื้อหา อาทิ ภาพรวมโครงสร้างธุรกิจ ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) จุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มธุรกิจและการแข่งขันใน 1 ปีข้างหน้า รวมถึงปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง และบทสรุปสำคัญของธุรกิจ โดยจะเริ่มเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานพันธมิตร ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2567 เป็นต้นไป
”การที่เรามีพันธมิตรที่ทำเรื่องพวกนี้อย่างต่อเนื่องผมเชื่อว่าเป็นการต่อยอด จะทำให้นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจทำเรื่องต่างๆได้อีกมากมาย เราจะทำอย่างไรมากกว่าในอนาคตจะทำไดัทั้งอินดรัสทรีจะทำได้ทั้งบริษัทจดทะเบียนรวมถึง SME ที่จะทำให้มีข้อมูลพวกนี้ออกให้นักลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะข้อมูลด้านการเงิน แต่เป็นข้อมูลในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง ต้นทุน รายได้ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่เราอยากทำต่อเนื่องระยะยาว จะทำอย่างไรให้มีพันธมิตรมากขึ้นและร่วมระยะเวลายาวขึ้น“ ดร.ภากร กล่าว