จับตากองทุนไทยลงทุนหุ้นกู้ AT1 หลังถูกตีมูลค่าเหลือศูนย์

จับตากองทุนไทยลงทุนหุ้นกู้ AT1 หลังถูกตีมูลค่าเหลือศูนย์
โบรกฯ มองกองทุนไทยที่เข้าไปลงทุน หุ้นกู้ AT1 อาจได้รับความเสี่ยงสูง แต่ธนาคารไทยไร้ผลกระทบ

 

จากการควบรวมกิจการระหว่างเครดิตสวิสกับธนาคารยูบีเอส UBS ส่งผลให้มูลค่าพันธบัตร AT1 ถูกปรับลดเหลือศูนย์ จากเดิมมีมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแลของสวิส ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่าสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนเป็นอย่างมากเนื่องจากจะไม่ได้รับเงินคืนแม้แต่บาทเดียว

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าธนาคารไทยจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย หลังขาดทุนจากการเข้าไปลงทุนในตราสารทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเครดิตสวิส ซึ่งพบว่ามีกองทุนไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปลงทุนด้วยเช่นกัน

ด้าน วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับกองทุนที่เข้าไปลงทุนใน หุ้นกู้แปลงสภาพโดยมีเงื่อนไข (CoCo Bond) ของเครดิตสวิสอาจจะได้รับผลกระทบในความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากยังไม่มีมาตรการชดเชยออกมาในขณะนี้

แต่ขณะเดียวกัน มองว่าไม่มีผลกระทบต่อธนาคารไทย เนื่องจากไทยเคยผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งไปแล้ว ดังนั้นธนาคารไทยจึงมีการตั้งสำรองและมีสภาพคล่องสูงด้วย รวมถึงผลประกอบการที่ผ่านมาก็สามารถทำได้ดี

แต่อย่างไรก็ตามมองประเด็นดังกล่าวจะกระทบต่อเซนติเมนท์ทางอ้อม โดยฟันโฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง รวมถึงกองทุนที่เข้าไปลงทุนก็เลือกที่จะเก็บเงินมากกว่าเพื่อลดแรงกระแทก

สำหรับ ตราสาร AT1 คือ พันธบัตร Contingent Convertibles (CoCo  Bond) ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกระแทกธนาคารเวลาประสบปัญหาการเงิน และหากระดับเงินกองทุนของธนาคารต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และเป็นหุ้นกู้ที่ไม่กำหนดอายุ (Perpetual) หรือจนกว่าผู้ออกจะขอไถ่ถอนคืนตราสารดังกล่าวก่อนครบกำหนดเอง ซึ่งมักจะเป็นระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ หากสถาบันการเงินมีผลประกอบการที่แย่ รวมถึงยังมีโอกาสที่จะถูกเปลี่ยนจากหนี้เป็นทุนโดยอัตโนมัติ เพื่อแลกกับความเสี่ยงดังกล่าวการลงทุนใน CoCo Bond จึงได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การลงทุนใน AT1 จึงถือว่ามีความเสี่ยง

ดังนั้น หุ้นกู้ AT1 จึงมักถูกเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้มีความเข้าใจและคุ้นเคยความเสี่ยงของหุ้นกู้ประเภทนี้ และมีความสามารถในการรับความเสี่ยงมากกว่า

 

 

 

TAGS: #CS #UBS #CoCoBond