ตลาดเงิน/ทุน 6-10 พ.ค. เงินบาทแข็งค่า สวนทางดอลลาร์ฯอ่อน หุ้นไทยบวกขึ้น 0.14%จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดเงิน/ทุน 6-10 พ.ค. เงินบาทแข็งค่า สวนทางดอลลาร์ฯอ่อน หุ้นไทยบวกขึ้น 0.14%จากสัปดาห์ก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปรอบสัปดาห์ 6-10 พ.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ ส่วนหุ้นไทยปิดบวกเล็กน้อย จากสัปดาห์ก่อน

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่าสวนทางเงินดอลลาร์ฯที่อ่อนค่าตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามภาพรวมของสกุลเงินในภูมิภาค นำโดย เงินหยวนและเงินเยน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่ง สะท้อนแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานราย

สัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดกดดันเงินดอลลาร์ฯ ให้อ่อนค่าลงพร้อมๆ กับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้น ของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 พ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 7-10 พ.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,597 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 437 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตรไทย 2,567 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 2,130 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินเยนและราคาทองคำในตลาดโลก ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ค.รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของยูโรโซน และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับ ทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความคาดหวังว่า เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย.นี้ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด

นอกจากนี้ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังบริษัทผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายหนึ่งรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ดีกว่าคาด

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยลดช่วงบวกลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังตอบรับประเด็นบวกข้างต้นไปพอสมควรแล้ว

โดยแม้จะมีปัจจัยบวกจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการเตรียมนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหนุนให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน อนึ่งหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค

ในวันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,371.90 จุด เพิ่มขึ้น 0.14% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,074.02 ล้านบาท ลดลง 4.48% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.85% มาปิดที่ระดับ 386.16 จุด

สัปดาห์ถัดไป (13-17 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,380 และ 1,390 จุด ตามลำดับ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ

และผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของบจ.ไทยส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีกข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่

ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย.ของยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

TAGS: #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #ตลาดเงิน #ตลาดทุน