ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า อินโดนีเซีย-สหรัฐฯ เปิดเผยความตกลงการค้าต่างตอบแทน (Reciprocal Trade Agreement) (22 ก.ค.2568) ใจความสำคัญหลักอยู่ที่สหรัฐฯ ลดอัตราภาษี (Reciprocal Tariffs) ให้อินโดนีเซียเหลือ 19% (จากเดิม 32%) ขณะที่ฝั่งอินโดนีเซียต้องเปิดตลาดและยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่สหรัฐฯ เสนอการลดภาษีช่วยบรรเทาผลกระทบต่อภาคการส่งออกของอินโดนีเซียไปยังสหรัฐฯ ได้บางส่วน แต่ผลเชิงบวกต่อ GDP ยังมีจำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP อินโดนีเซียในปี 2025 ขึ้นเป็น 4.8% (จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 4.5% ภายใต้สมมติฐานที่ต้องเผชิญภาษีตอบโต้ในอัตรา 32%) เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 1.9% ของ GDP อินโดนีเซีย ขณะที่เศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอยังคงเป็นปัจจัยสำคัญกดดันเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี
อีกทั้งอินโดนีเซียเปิดตลาดให้สหรัฐฯ เปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขันในประเทศ ทำให้สินค้าสหรัฐฯ มีโอกาสขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น แม้ไทยยังมีแต้มต่อที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน แต่สินค้าบางรายการของไทยคงต้องเตรียมรับการแข่งขันที่สูงขึ้น เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องยนต์ดีเซล และเคมีภัณฑ์
อย่างไรก็ตามดีลนี้หนุนให้สินค้าอินโดนีเซียได้เปรียบในการทำตลาดสหรัฐฯ สินค้าไทยเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นในกลุ่มสินค้าที่ทับซ้อนกับประเทศอาเซียนที่มีอัตรา Reciprocal Tariffs ต่ำกว่าไทย อาทิ ยางธรรมชาติ ถุงมือยาง กุ้งแปรรูป ปลาแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น