‘ไอคอนสยาม’ ครบรอบ 5 ปี กับ 3 ไฮไลท์สำคัญ สู่ปลายทางระดับโลก เบอร์หนึ่งในใจนักท่องเที่ยวใน/ต่างประเทศ ทุ่ม 500 ล้าน ชู Soft Power ไทย จัดกิจกรรมยิ่งใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว
สุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เปิดเผยว่า ‘ไอคอนสยาม’ ภายใต้การร่วมทุน ระหว่าง กลุ่มสยามพิวรรธน์ จำกัด , บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัทแม็กโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาโครงการศูนย์การค้าไอคอนสยาม ทำเลศักยภาพโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ดำเนินการครบรอบ 5 ปีในปัจจุบัน
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการฯ ถือเป็นหนึ่งในแม่เหล็กงดึงดูดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่ครองความเป็นที่หนึ่งในใจผู้คนทั่วโลก ปัจจุบัน ไอคอนสยามได้รับการยกย่องทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก (Global Destination) แห่งใหม่ สัญลักษณ์ประเทศไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างแท้จริง
โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไอคอนสยาม ยังได้สร้างไฮไลท์ สำคัญต่างๆ ดังนี้
1.ศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ บนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งธนบุรี ทำให้ความเจริญรุ่งเรืองกระจายผลประโยชน์ในวงกว้างไปได้มาก
โดยในปีหน้า 2567 ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อให้เกิดประโยชน์นานาประการแก่ชุมชนที่รายล้อมและบรรดาธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดอีกด้วย
2. ไอคอนสยาม สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานมากกว่า 300,000 อัตรา เพิ่มมูลค่าของที่ดินบริเวณถนนเจริญนครและใกล้เคียง จากตารางวาละ 150,000 บาท ในปี 2561 กลายเป็น 640,000 บาท ในปี 2566
3. ภาครัฐบาลยังได้เข้ามาสานต่อในการปรับโครงสร้างพื้นฐาน วางระบบขนส่งเชื่อมต่อคมนาคมขนาดใหญ่ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีทอง แผ่ขยายการเดินทางครอบคลุมทั้ง “รถ-ราง-เรือ” ช่วยให้ประชาชนและกลุ่มนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้หลากหลาย สร้างสีสันให้ธุรกิจการค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยากลับมาคึกคัก
“ไอคอนสยามถือเป็นหนึ่งในโครงการสุดยอดไอคอนิค จากการนำสิ่งที่ดีที่สุดของไทยมาบรรจบกับสิ่งที่ดีที่สุดของโลก ‘The Best of Thailand Meets The Best of The World’ เป็นการนำเสนอคุณงามความดีในทุกมิติของความเป็นไทย พร้อมความยิ่งใหญ่ของสิ่งมหัศจรรย์จากทุกมุมโลก รวมกันให้ปรากฏเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ” สุพจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ไอคอนสยาม ยังถือเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการเมืองด้วยแนวคิดความยั่งยืน เติบโตและทำธุรกิจภายใต้กลยุทธ์การร่วมกันรังสรรค์ (Co-Creation) และการสร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Value) ในการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนกับทุกภาคส่วน สร้างผลตอบรับเชิงบวกสู่สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนสำคัญที่นำไอคอนสยามก้าวสู่ความยิ่งใหญ่บนเวทีโลกได้สำเร็จ
โดยความสำเร็จในครั้งนี้ ยังมาจากพลังความร่วมมือจากพันธมิตรทุกคนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนโดยรอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด
“ในวาระพิเศษครบรอบ 5 ปีของไอคอนสยามครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเฉลิมฉลองด้วยกันภายใต้ธีม The 5th Anniversary of The ICON Unrivaled เพื่อร่วมกันตอกย้ำให้ทุกคนรู้ว่า ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” สุพจน์ กล่าว
6 เดือนแรก เติบโต 25%
พร้อมเสริมว่า ผลประกอบการของไอคอนสยาม ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2566 นี้ บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้น 25% จากปี 2565 ที่ผ่านมา จากความสำเร็จในการสร้างฐานลูกค้าประจำทั้งที่เป็นคนไทยที่มีกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยกลยุทธ์ การส่งมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมาย การจัด World Class Event อย่างสม่ำเสมอ
รวมถึงการเป็นศูนย์รวมงานศิลปะไทยและศิลปะระดับโลก ภายใต้แนวคิดการทำงานแบบ Collaborate to Win ทำให้ไอคอนสยามประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก ส่งผลให้ธุรกิจของคู่ค้าพันธมิตรภายในศูนย์การค้าเติบโตได้ดีไปพร้อมกัน
“ไอคอนสยาม ยังได้ส่งต่อความสำเร็จและความรุ่งเรืองไปยังพันธมิตรโดยรอบจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่อยู่ในเมืองสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 12,700 ราย ได้เติบโตไปกับเรา และกลายเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว และเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากใน social media ทั่วโลก รวมถึงแบรนด์ไทยอีก 840 ราย บนพื้นที่ “ไอคอนคราฟต์” ชั้น 4-5 ที่สามารถนำเสนอผลงานของช่างฝีมือไทย เพื่ออวดสายตานักเดินทางจากทั่วโลกเช่นกัน” สุพจน์กล่าว
จัดงบฯ 500 ฉลองครบ5 ปี
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและทั่วโลกตามนโยบายของภาครัฐ ไอคอนสยาม ได้จัดแคมเปญฉลองครบรอบ 5 ปี โดยใช้งบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท เตรียมแผนการตลาดทั้งกิจกรรมมหาปรากฏการณ์ใหญ่ World Class Event โปรโมชันต่างๆ และ กิจกรรมบันเทิง
โดยนำ ซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ของไทยในด้านต่างๆ มาเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ทุกคนมาเยี่ยมชม รวมถึงร่วมมือกับททท. และกทม. จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี เช่น การแสดงแสงสี วิจิตร เจ้าพระยา งาน Amazing Thailand Countdown 2024 เป็นต้น แคมเปญจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือน จึงมั่นใจอย่างยิ่งว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 70%
ททท.หนุนเอกชนใช้ ‘ซอฟต์ เพาเวอร์’
ด้าน ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ไอคอนสยามถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย คำว่า ไอคอนสยาม ก็คือจุดเด่นของประเทศไทย เป็นแลนด์มาร์กชั้นนำของไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก ตอบโจทย์ได้ครบครัน
ทั้งการเป็นศูนย์รวมทางด้านวัฒนธรรม กิจกรรม อาหาร เทศกาลประเพณี สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ Soft Power ทั้งหมด ททท.ต้องขอบคุณไอคอนสยามเป็นอย่างยิ่ง เพราะไอคอนสยามช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย
กรุงเทพฯ อำนวยสะดวกเจ้าบ้านที่ดี
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “หัวใจสำคัญในความสำเร็จของเมือง จริงๆ แล้วภาครัฐก็เป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ถ้าสังเกตว่าโครงการต่างที่ดีๆ ภาคเอกชนก็เป็นคนทำด้วย ไอคอนสยามที่ผ่านมาจัดกิจกรรมริมน้ำต่างๆ มากมาย ทั้งเทศกาลเล่นว่าว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะเป็นสถานที่ที่ครอบครัวสามารถไปใช้ชีวิตทำกิจกรรมซึ่งหาได้ยาก และงานเคาตน์ดาวน์ที่ไอคอนสยาม ซึ่งตอนนี้ก็ขึ้นไปปรากฏบนแผนที่โลกแล้ว แสดงให้เห็นว่าสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญ เมืองไม่สามารถไปด้วยภาครัฐอย่างเดียว
“เราเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ความเก่งของเราในการจัดอีเวนต์ ในการเข้าใจจิตใจของนักท่องเที่ยว ผมว่าเอกชนเก่งกว่า อย่างปีนี้ก็เป็นปีที่เราจะเน้นเรื่อง Soft Power กระตุ้นการท่องเที่ยว ภาคงรัฐบาลก็มีแนวคิดจะจัดกิจกรรมคัลเลอร์ฟูลแบงค็อก สร้างสีสันให้กรุงเทพฯ ช่วงปลายปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนสุดท้ายคือธันวาคมก็จะมีโครงการวินเทอร์เฟสติวัล ซึ่งเราต้องร่วมมือกันนะครับ แล้วสุดท้ายประโยชน์ก็จะอยู่กับเมืองอยู่กับประเทศ ทำให้เมืองให้เมืองนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” ชัชชาติ กล่าว
เอสเอ็มอีไทย โตไปด้วยกัน
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การดำเนินงานและผลงานของไอคอนสยามที่ก่อตั้งมาถึง 5 ปี เป็นที่ประจักษ์ของประชาชนทั่วประเทศแล้วว่า สามารถจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในฝั่งธนฯ อย่างเห็นได้ชัด
ขณะเดียวก็เป็นแลนด์มาร์กที่มีความสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย และยังมีส่วนช่วยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชน โดยเฉพาะ SMEs ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”
ที่ดินคลองสาน ขยับขึ้น 3 เท่าตัว
อลิวัสสา พัฒนถาบุตร ประธาน บริษัทซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การกำเนิดขึ้นของโครงการไอคอนสยามต้องนับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทำเลรอบๆ โดยเฉพาะย่านเจริญนคร-คลองสาน จุดประกายให้กับผู้พัฒนาโครงการและนักลงทุนหันมาสนใจทำเลนี้ ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับราคาสูงขึ้นกว่า 3 เท่า
โดยที่ดินริมแม่น้ำติดถนนเจริญนคร จากราคาตารางวาละ 150,000-250,000 บาท เป็นตารางวาละ 800,000 ถึง 900,000 บาท และฝั่งตรงข้ามบนถนนเจริญนคร จากตารางวาละ 150,000 บาท ณ วันนี้ ขยับราคาเป็น 640,000 ต่อตารางวา นอกจากนี้เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งคมนาคมที่มีทั้ง รถ-ราง-เรือ เข้ามาเสริมทำให้พื้นที่ย่านเจริญนคร – คลองสานตรงนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น
โตควบคู่ชุมชนท้องถิ่น
นาวาโท ปริญญา รักวาทิน นายกสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า “หากมองภาพย้อนหลังไป 5 ปี ในวันเปิดตัวโครงการไอคอนสยาม เราต้องยอมรับว่าการเปิดตัวครั้งนั้น เป็นแรงดึงดูดขนาดแรงอย่างมากกับกลุ่มธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งตลอดเส้นทางตั้งแต่สะพานกรุงเทพ ไปจนถึงสะพานปิ่นเกล้าฯ และ ไอคอนสยามได้สร้างสีสันให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก
ทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับผลบวกในทุกมิติ ทั้งเรื่องระบบของเรือโดยสาร เรือท่องเที่ยว โรงแรม คอนโดมิเนียม และในเรื่องของการทำกิจกรรมที่ริมแม่น้ำมากมาย ช่วยเพิ่มตัวเลขการเติบโตในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เป็นอย่างมากครับ”
รศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า “ที่ผ่านมาไอคอนสยาม และ UDDC ได้ร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาย่านกะดีจีน-คลองสาน ไม่ใช่แค่เรื่องของการปรับปรุงสภาพแวดล้อมกายภาพ
เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในย่าน กิจกรรมปลูกสะพาน การปรับพื้นที่สวนสานธารณะ แต่ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับย่านมรดกวัฒนธรรม ซึ่งมีความเป็นพหุวัฒนธรรม พุทธ คริสต์ อิสลาม พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่ถือเป็นองค์กรที่รวบรวมเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาของย่าน”
ผศ.ดร.ทชชญา วนนะบวรเดชน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า “ปกติแล้วห้างสรรพสินค้าก็คือเป็นห้างสรรพสินค้า แต่ไอคอนสยามมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสถาบันทางธุรกิจที่ไม่ทอดทิ้งชุมชน บูรณาการความร่วมมือทั้งภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา เยาวชนของชาติ
รวมไปถึงชุมชนที่อยู่ในย่าน ในการใช้ Soft Power และ Localization ดึงจุดเด่นศิลปวัฒนธรรมที่เป็นในท้องถิ่นของชุมชนไปเชื่อมโยงกับ Global เพื่อพัฒนาและสร้างชุมชนให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน”
เราจะไม่ทิ้งใครไว้ในรถ
กฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวว่า “มนุษย์ล้อก็ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ นั่นก็คือ “อารยสถาปัตย์” การออกแบบที่ทำให้ทุกคนที่ได้ไปเยือน รู้สึกถึงความเป็นมิตร ที่เขาต้อนรับเราเป็นอย่างดีผ่านการออกแบบดีไซน์ ไอคอนสยาม จึงเสมือนเป็นดัชนีชี้วัดถึงความพร้อมของประเทศไทย ด้วยการสร้างให้สถานที่แห่งนี้ให้เป็นมิตรภาพแก่คนทั้งมวล ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ใช่คนพิการ ไม่ใช่คนที่ต้องเป็นภาระของคนรอบข้าง ที่ไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง และไม่ทิ้งใครไว้ในรถ”