กรมเชื้อเพลิงฯ แจงแหล่งG1 ผลิตก๊าซฯดีเลย์ 2 เดือน เหตุเรือติดตั้งแท่นเสียหายยันไม่กระทบต้นทุนค่าไฟ หนุนรัฐบาลเปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หาแหล่งพลังงานใหม่ป้อนประเทศ
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยแปลงสำรวจหมายเลขG1/61 (แหล่งเอราวัณ) ของ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวันภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันผลิตได้ที่ระดับ 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เนื่องจากมีปัญหากระบวนการผลิตจากเครนเรือK1 ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตเกิดความเสียหาย แต่ยังคงเป้าหมายการผลิต 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันภายในเดือนเม.ย. 2567
ทั้งนี้ได้เร่งประสานกับทางปตท.สผ.เพื่อจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นในอ่าวไทยมาชดเชยไม่ให้มีผลกระทบต่อการใช้ในประเทศ โดยจะเพิ่มอัตราผลิตของแหล่งอาทิตย์ให้ได้ 60 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน แหล่งG2/61(แหล่งบงกช) 131 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และแหล่งยาดานาจากเมียนมาร์ขอให้รักษาระดับการผลิตไว้ 350 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน รวมถึงแหล่งก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วม เจดีเอ มาใช้ในไทย ในกรณีที่มาเลเซียไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซฯ
อย่างไรก็ตามในภาพรวมยังสามารถจัดหาก๊าซฯมาทดแทนกำลังการผลิตที่ไม่มาตามแผนของแหล่งG1 ได้ เพื่อไม่ให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพงกว่า มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะไม่ทำให้มีผลต่อภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า
“ปริมาณก๊าซฯที่ไม่มาตามแผนพยายามบริหารจากแหล่งอ่าวไทยส่วนอื่นมาทดแทน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าไฟ และได้แจ้งไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้ว ซึ่งก็หวังว่า เม.ย.ปีหน้าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามแผน 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน แต่ถ้ายังมีปัญหาปตท.สผ.ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคือถูกเปรียบเทียบปรับ”
นายศุภลักษณ์ กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียงและสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ทางกรมฯพร้อมร่วมประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ในเบื้องต้นต้องออกกฏหมายขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งประเมินหากดำเนินจริงต้องใช้เวลา 10 ปี จะผลิตก๊าซฯขึ้นมาได้ และจะเป็นเรื่องที่ดีต่อต่อทั้งสองประเทศ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากแหล่งปิโตรเลียม
ปัจจุบันนี้แหล่งก๊าซอ่าวไทยมีปริมาณเริ่มลดน้อยลง จากเดิมไทยผลิตได้ 70 % แต่ขณะนี้เหลือ 50% ของความต้องการใช้ ทำให้ต้องเลือกแนวทางการนำเข้าแอลเอ็นจี ที่มีราคาสูงกว่ามาชดเชยและส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยที่ปรับสูงขึ้น