นักวิชาการห่วงชาวนาไทย 10 ปีเผชิญวงจรอุบาทว์รายได้ต่ำต้นทุนสูง ชี้นโยบายแทรกแซงราคาไม่ช่วยแก้ปัญหา ขณะที่กว่า 70% ของชาวนาเป็นหนี้ 1-3 แสนบาท
ร.ศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ “10 ปีชาวนาไทย: จนเพิ่ม หนี้ท่วม ว่า ปัจจุบันไทย ผลิตข้าวสารเป็นอันดับ6ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 ของการผลิตข้าวสารโลก และถูกจัดให้อยู่ในอันดับ2 ของการส่งออกข้าวในตลาดโลกรองจากอินเดีย แต่ต้องยอมรับว่าชาวนาไทยยังต้องอยู่ในวงจรอุบาทว์ข้าวไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ชาวนาไทยยังจนมากที่สุดในอาเซียนและเอเชีย หากพิจารณาจากผลผลิตข้าวลดลง รายได้และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง โดยในปี 2565เทียบกับปี 2555 ชาวนาไทยมีต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น 53.6% หรือ 5,898 บาท/ไร่ มีผลผลิตต่อไร่ลดลง3.9% มีรายได้เฉลี่ยต่อไร่ 3,900 บาท ลดลง16.6% และมีเงินเหลือในกระเป๋าติดลบ 1,998 บาทต่อไร่
เมื่อเทียบกับชาวนาอินเดีย แม้จะมีต้นทุนเพิ่มแต่ชาวนาอินเดียก็มีมีรายได้ 11,115.6 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 2555 ส่งผลให้มีเงินคงเหลือ 4,886.3 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 4,121.9บาท/ไร่ ขณะที่เวียดนาม ชาวนามีรายได้ 8,320.6 บาท/ไร่มีเงินคงเหลือ 4,180.7 บาท/ไร่ และปี 2565 มีเงินคงเหลือ 3,222.5 บาท/ไร่
ทั้งนี้ผลผลิตข้าวไทยต่อไร่ของไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่) ขณะที่ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน
นอกจากนี้ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง
รวมถึงการให้ความสำคัญกับการวิจัยพันธุ์ข้าว แต่ละปีมีเงินวิจัย 200 ล้านบาท แต่เวียดนามใส่เงิน 3,000 ล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่นใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญต่อปี
ทั้งนี้ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอม และนุ่ม นอกจากนี้เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ
“อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยปฏิรูปข้าวไทยแบบครบวงจร ช่วยให้ชาวนาออกจากวงจรอุบาทว์ ปลดหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งพบว่ากว่า 70 %ของชาวนาเป็นหนี้ 1-3 แสนบาทต่อครัวเรือน รวมถึงการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดภัยแล้ง”