กกร.จี้รัฐรับมือภัยแล้งหวั่นซ้ำเติมต้นทุนสินค้าแพง

กกร.จี้รัฐรับมือภัยแล้งหวั่นซ้ำเติมต้นทุนสินค้าแพง
กกร.ชี้ไทยเสี่ยงภัยแล้งจากเอลนีโญ่ จ่อส่งหนังสือถึงนายกฯเร่งคลอดแผนจัดการน้ำ ขณะที่ส่งการบ้าน 6 ด้านให้พรรคการเมืองแก้เศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่าภาวะเศรษฐกิจประเทศหลักเริ่มทยอยฟื้นตัว ทั้งจีนและสหรัฐจากภาคบริการ โดยภาคการผลิตเริ่มมีการขยายตัวดีขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร  ซึ่งคาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรกก่อนจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

 

ขณะที่ภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงและอาจปรับตัวลงช้า ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ในกลุ่มภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงและมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทยที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อไป

 

ทั้งนี้ต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยกกร.เตรียมทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมรตรีเพื่อขอให้พิจารณาแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปีและระยะยาวเนื่องจากมีความกังวลความเสี่ยงภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในเดือนก.ค.นี้เนื่องจากปริมาณน้ำในภาคตะวันออกที่อาจลดลงกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร หากเตรียมรับมือไม่ทันจะเป็นการซ้ำเติมต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและราคาสินค้าเกษตรและอาหารปรับขึ้นต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ทางกกร.ได้จัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยมี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

 

1.ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

 

2.ด้าน Ease of Doing Business  เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ

 

3.ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย

 

4.ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว

 

5.ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

 

6.ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)

 

TAGS: #กกร. #ส่งออก #ภัยแล้ง #เอลนีโญ่