อีอีซี ผนึก สอวช. เร่งพัฒนากำลังคนป้อนอุตสาหกรรมใหม่

อีอีซี ผนึก สอวช. เร่งพัฒนากำลังคนป้อนอุตสาหกรรมใหม่
สกพอ. จับมือ สอวช. พัฒนาระบบนิเวศการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ผุดแพลตฟอร์มเสริมทักษะขั้นสูง ปักหมุดสร้างกำลังคนสู่พื้นที่อีอีซี

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี  เปิดเผยว่า สกพอ.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เรื่อง การพัฒนาระบบนิเวศการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์ของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พื้นที่อีอีซี พร้อมกับสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และยกระดับเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศ

ทั้งนี้ความร่วมมือตาม MOU นี้ จะร่วมดำเนินการใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่  1. การร่วมมือในการประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่อีอีซี และสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

2. การส่งเสริมระบบนิเวศการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเป้าให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา การยกระดับเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

และ3.สนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลนักวิชาการและแรงงานทักษะสูง ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และพัฒนาแนวทางการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

ทั้งนี้สกพอ.พร้อมจะให้ความสำคัญการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษตามความต้องการของประเทศ โดยจะขับเคลื่อนผ่านแนวทางและกลไกของ สอวช. ในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์การลงทุนของภาคผลิตและบริการ อาทิ นโยบายพัฒนากำลังคน (Manpower Policy) ซึ่งมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนและปฏิรูประบบและกลไกกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา และแพลตฟอร์ม STEM Plus ที่มุ่งเน้นที่ตำแหน่งงานระดับสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ครอบคลุมอุตสาหกรรม New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

สำหรับที่ผ่านมาทำให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 10,684 อัตรา และมีผู้ผ่านการฝึกอบรม 445,967 คน จาก 1,205 หลักสูตร 129 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดงานอย่างยั่งยืนในพื้นที่อีอีซีและประเทศต่อไป

 ดร. สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. มีภารกิจในการกำหนดแนวทางในการนโยบายการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของประเทศ โดยขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ 1. Formulation ปรับนโยบายพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ 2. Adoption จัดลำดับความสำคัญการพัฒนากำลังคนทักษะสูง ผ่านนวัตกรรมการจัดการศึกษา 3.Integration การสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ (STEM Plus) 4) Evaluation กำหนดเป้าหมายสัดส่วนกำลังคนสมรรถนะสูง 25% และเพิ่มสัดส่วนหลักสูตรบูรณาการ และได้ย้ำว่าความร่วมมือระหว่าง อีอีซี และ สอวช. ในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันทำงานเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ โดยมีพื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ ด้วยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและบริการของประเทศ

 

TAGS: #สกพอ. #สอวช. #อีอีซี