ครม.เคาะเกณฑ์โทเคนดิจิทัลของรัฐบาลแหล่งระดมเงินใหม่ นำร่องขายประชาชน 5 พันล้านบาท ซื้อได้ตั้งแต่หลักร้อยบาท หนุนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. .... เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token)
ขณะที่แต่ละปีทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ต้องออกพันธบัตรกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่เป็นประจำ โดยการออกโทเคนจะทำให้ประชาชนรายย่อยสามารถซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้นและได้ผลตอบแทนดีกว่า และสม่ำเสมอกว่า โดยเป็น การลงทุนระยะยาวและสม่ำเสมอซึ่งประชาชนสามารถซื้อหลักพัน หรือหลักร้อยก็ได้
นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัลของประเทศวางรากฐานการเงินดิจิทัลของประเทศ ได้ด้วย โดยกำหนดกรอบวงเงินออกเป็นพันธบัตร G Token ต้องพิจารณาให้เหมาะสม ซึ่งปกติการออกพันธบัตรจะเป็นวงเงินหลายหมื่นล้าน แต่อาจนำร่องที่ 5,000 ล้านบาทก่อนขยายผล
คาดเริ่มจำหน่ายให้กับประชาชนได้ภายใน 2-3 เดือนนี้
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การเปิดขายพันธบัตรโทเคนเป็นหนึ่งในเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างที่ประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ กำลังจะดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน อันเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุนและขยายฐานนักลงทุนให้มีความหลากหลายและครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
การพัฒนา G-Token ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของกระทรวงการคลังในการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้กับเครื่องมือทางการเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพการระดมทุน เพิ่มความคล่องตัว และความโปร่งใสส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม (Financial Inclusion)
ตลอดจนเพิ่มช่องทางของโอกาสและทางเลือกในการกระจายการลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืน ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคของประเทศ
ทางสบน.ได้กำหนดคุณลักษณะของ G-Token ให้เป็นแหล่งลงทุนศักยภาพสูงให้กับประชาชน กล่าวคือ มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งการกำหนดอัตราผลตอบแทนล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายและประกาศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Market) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารจัดการทางการเงินและสภาพคล่องเป็นการเฉพาะได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม สบน. จะได้กำหนดแผนการเสนอขาย G-Token ให้กับประชาชนครั้งแรกภายในปีงบประมาณ 2568 โดยเป็นการกู้เงินภายใต้กรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2568 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ผลตอบแทนของ G-Token จะเบิกจ่ายจากงบชำระหนี้ในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับเครื่องมือระดมทุนอื่นๆ ของ สบน.
ทั้งนี้ สบน. มีแผนที่จะเสนอขาย G-Token อย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุนได้อย่างมั่นใจและมีความต่อเนื่อง ซึ่ง สบน. จะพิจารณากำหนดรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงต้นทุน ความเสี่ยง สภาวะตลาด และวิธีการลงทุนของผู้ลงทุน รวมถึงแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล โดยจะได้ประชาสัมพันธ์แผนการดำเนินการที่ชัดเจนให้ผู้ลงทุนรับทราบในโอกาสแรกต่อไป