กฟผ.ตั้งรับอนาคตโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ขอนแก่น ลุ้นรัฐบาลใหม่เคาะ มั่นใจไม่กระทบไฟอีสาน

กฟผ.ตั้งรับอนาคตโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ขอนแก่น ลุ้นรัฐบาลใหม่เคาะ มั่นใจไม่กระทบไฟอีสาน
“กฟผ”เตรียมแผนสำรองบริหารไฟภาคอีสาน หลังโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน 650 เมกะวัตต์ล่าช้ากว่าแผน รอรัฐบาลใหม่พิจารณา ชง Namphong Green Energy Model ตอบโจทย์พลังงานสะอาดลดคาร์บอน

นายอลงกรณ์ พุ่มรักธรรม ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  เปิดเผยว่าแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพื่อทดแทน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพองชุดที่ 1 และ 2 กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ในจ.ขอนแก่น ที่จะปลดระวาง ยังต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา ซึ่งจะอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2566-2573 (PDP2023) หรือไม่  ซึ่งยอมรับว่าล่าช้าไปกว่าแผนที่กำหนดไว้จะต้องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์(COD) เดือนม.ค. 2569 

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าน้ำพอง ใช้เชื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และแหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี ก่อนหน้าได้ขยายเวลาการปลดระวางโรงไฟฟ้าไปแล้วจาก 25 ปี เป็น 34 ปี โดยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทดแทน แต่สิ่งที่กังวลคือ ปริมาณก๊าซฯจะมีป้อนเข้าโรงไฟฟ้าจะมีเพียงพอถึงปี  2574 เท่านั้น 

ทั้งนี้ได้เสนอให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน จัดส่งก๊าซฯทางท่อจากจ.นครราชสีมา  ซึ่งต้องลงทุนวางท่อเพิ่มระยะทาง 200 กม.  โดยกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน(กกพ.)เป็นผู้พิจารณาความเป็นไปได้ ซึ่งยอมรับว่าโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ทดแทนให้เป็นไปตามแผนจะต้องเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีนี้

อย่างไรก็ตามกฟผ.ได้เตรียมแผนสำรองในการบริหารกำลังผลิตไฟฟ้าไว้ควบคู่กันไป คือ 1. การลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 1,200 ล้านบาทเพื่อต่ออายุโรงไฟฟ้าน้ำพองชุดที่ 1 และ 2 ออกไปอีกประมาณ 8 ปี สามารถรองรับปริมาณก๊าซฯที่จะหมดลงในปี 2574 และ 2.โครงการน้ำพอง กรีน เอ็นเนอร์ยี โมเดล ( Namphong Green Energy Model ) ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งกำหนดไว้4 แนวทางคือ

1.การใช้ศักยภาพหลุมก๊าซฯในพื้นที่มากักเก็บคาร์บอนหรือเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) 2.การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) ในการผลิตเป็น Green Hydrogen 3. การใช้เทคโนโลยีดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCU) รูปแบบ Carbon Recycle และBiological Conversion 4.การผลิตไฟฟ้าจาก Fuell Cell 30 เมกะวัตต์หลังหมดสัญญาก๊าซปี 2574 

นายอลงกรณ์  กล่าวว่า ขณะนี้กฟผ.ได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ต้นแบบในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะชุมชน โดยใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท  จัดหารถพร้อมระบบคัดแยกที่เน้นการใช้ขยะแห้ง โดยจะใช้ขยะ 1 ตันต่อชั่วโมงหากเดินเครื่องทั้งวันก็จะใช้ราว 24 ตันต่อวันเพื่อผลิตไฟฟ้าแล้วจ่ายกลับให้กับชุมชน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน 650 เมกะวัตต์ ไม่ได้อยู่ในแผนดีพี 2023 เนื่องจากปริมาณก๊าซฯที่ไม่เพียงพอ จึงต้องพิจารณาทั้งแผนก่อสร้างทดแทนและการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่าเพื่อยืดอายุการใช้งานไปถึง 2574   ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไม่ได้ยืนยันว่าปริมาณก๊าซฯจะมีเพิ่ม และหากนำเข้าแอลเอ็นจีก็ต้องลงทุนท่อก๊าซฯเพิ่ม จะมีผลต่อต้นทุน ประกอบกับเทคโนโลยีพลังงานเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ได้ บรรจุอยู่ในแผนพีดีพี

 

TAGS: #โรงไฟฟ้าน้ำพอง #ก๊าซภูฮ่อม #กฟผ.