ลุ้นท่าทีกกพ.แก้ปมร้อนซื้อไฟ 3,600 เมกะวัตต์ ยึดหลักประชาชนได้ประโยชน์ กระจายโอกาสผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่
ประเด็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ Feed-in Tariff เฟส2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์กำลังเป็นที่จับตามองจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ของฝ่ายค้านจากพรรคประชาชน โดยตั้งข้อกังวลถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการพิจารณาที่กำลังจะเกิดขึ้น และขอให้รัฐบาลทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อสกัดไม่ให้กลุ่นทุนพลังงานเข้ามาหาประโยชน์ได้อีก
ทั้งนี้โครงการซื้อไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวนประมาณ 5,200 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อไฟฟ้าในจำนวน 3,600 เมกะวัตต์นี้ ทางคณะกรรมมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)แยกการรับซื้อหรือการประมูลออกเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ และโครงการรับซื้อไฟฟ้าขนาดประมาณ 1,500 เมกะวัตต์
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้า 2,100 เมกกะวัตต์ แยกเป็นไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในเฟสแรก 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดรับซื้อทั่วไป 1,052 เมกะวัตต์), ไฟฟ้าพลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในเฟสแรก 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดรับซื้อทั่วไป 400 เมกะวัตต์), ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์
การเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้ กกพ.ให้สิทธิ์ผู้ที่เคยเข้าประมูลในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ แต่ไม่ชนะการประมูลเป็นผู้มีสิทธิ์ยื่นประมูลก่อน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 198 ราย โดยกลุ่มนี้ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าวเนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว
สิ่งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตคือทำไมจึงไม่มีการเปิดประมูล แต่กลับให้สิทธิ์ผู้ที่เคยยื่นโครงการในครั้งแรก และการกำหนดเงื่อนไขนี้ออกมา อาจเกิดความไม่โปร่งใสขึ้นได้
ขณะเดียวกันหลายคนก็อดแปลกใจไม่ได้กับการชี้แจงของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานที่ยอมรับว่าเกิดจากความผิดพลาดในการทำมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ซึ่งมีรมว.พลังงานเป็นประธาน มีการออกหลักเกณฑ์ที่ต่างไปจากนโยบาย และได้สั่งการให้แก้ไขไปแล้วและกำลังจะมีการประชุม กบง. เพื่อแก้ไขในเรื่องนี้
คำถามก็คือหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ล้วนต้องได้รับไฟเขียวจากนโยบายภาครัฐที่ผ่านวงประชุมทั้งกบง. และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นทางกกพ.คงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้
ส่วนประเด็นที่มีการปิดกั้นไม่มีการประมูลทั่วไปแต่กลับให้สิทธิ์กับผู้ที่ไม่ผ่านในรอบแรก หากมองอีกมุมหนึ่ง ผู้ที่ไม่ผ่านรอบแรก 198 รายก็คล้ายกับเป็นตัวสำรองในสนามสอบ ที่ยังมีความพร้อมแต่คะแนนยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่ถ้าให้เข้าแข่งชิงในรอบนี้และมีการปรับปรุงคุณสมบัติให้ดีขึ้น น่าจะเป็นการกระจายโอกาสให้กับผู้เล่นรายอื่นๆเข้ามา
ขณะเดียวกันหากเปิดประมูลทั่วไป ก็เท่ากับเปิดให้รายใหญ่ที่มีความพร้อมกว่า มีคะแนนดีกว่า ซึ่งอาจเป็นหน้าเดิมๆ หรือขาประจำเข้าช่วงชิงโควตา จนมีข้อท้วงติงอีกว่าปล่อยให้ทุนพลังงานเข้ามาฮุบโควตาซื้อไฟฟ้า
ส่วนเรื่องราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ถูกมองว่าแพงเกินไปนั้น ได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ดกพช.มาแล้วโดยกำหนดไว้ ราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี, พลังงานลม 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี, ก๊าซชีวภาพ 2.0724 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี และไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รับซื้อ 6.80 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าไม่ได้สูงกว่าอัตราเดิมที่ใช้อยู่
อย่างไรก็ตามในวันนี้ (30ต.ค.)จะมีการประชุมกกพ. ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีการนำเรื่องโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาหารือเพื่อทบทวนหรือไม่ เนื่องจากกกพ.อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน การตั้งกรรมการชุดใหม่และองค์ประชุมไม่ครบ หลายคนอยู่ในตำแหน่งรักษาการ หากต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญโดยมารยาทจะเหมาะสมหรือไม่