อุตฯค้าปลีกมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท ปี67 ยังอ่อนแรง ฟื้นช้าปรับเป้าโต 2-5% จากเดิม 3-7% รับยอดขายหดลามถึงกลุ่มพรีเมียม ห่วงผู้ประกอบการ 56% สต๊อกล้นใช้เวลาระบายสินค้าเกิน 1-3 เดือน
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมค้าปลีกครึ่งแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ค่อนข้างน่าผิดหวัง จากตอนแรกประเมินไว้ดีกว่านี้ สอดคล้องกับข้อมูลของ GDP ไทยช่วงครึ่งปีแรกเติบโตเพียง 1.9% และไตรมาส 3 คาดว่าจะแย่กว่าไตรมาส 2 ดังนั้น หากอยากให้ GDP เติบโตระดับ 3% ต้องทำไตรมาส 4 ให้ถึง 4.2% ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ หากแยกตามประเภทค้าปลีก จะเห็นการฟื้นตัวช้า ๆ แบบกระจุกตัว ดังนี้
- กลุ่มค้าปลีก รูปแบบห้างสรรพสินค้า, แฟชั่นความงาม และไลฟ์สไตล์ ขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับค้าปลีกอื่น ๆ ปัจจัยหลักมา ยังคงเป็นเรื่องมู้ดการจับจ่ายของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ และนักท่องเที่ยว
- ร้านสะดวกซื้อในเมือง และซูเปอร์มาร์เก็ต ที่สาขาตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในเขต กทม. ปริมณฑล และภาคกลาง ขยายตัวได้เล็กน้อย ส่วนที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค ภาคเหนือ และภาคใต้ ทรงตัว และลดลงเล็กน้อยในภาคอีสาน
- กลุ่มค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต และกลุ่มค้าส่งค้าปลีกภูธร มีความยากลำบาก การขยายตัวติดลบ
- กลุ่มค้าปลีกค้าจำหน่ายสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง ซ่อมบำรุง, Smart Phone ขยายตัวลดลง จากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า
- กลุ่มค้าปลีกและบริการ ร้านอาหาร-ภัตตาคารและเครื่องดื่ม โดยภาพรวมทรงตัว แต่จะมีการขยายตัวได้บ้างในเขต กทม. ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยว
4 ปัจจัยทำสต๊อกล้น
จากการสอบถามผู้ประกอบการในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า 56% ของผู้ประกอบการมีสต๊อกสินค้าสูงเกินความเหมาะสม แบ่งเป็น
- ผู้ประกอบการ 37% ต้องใช้เวลาระบายสินค้า 1-3 เดือน
- ผู้ประกอบการ 13% ต้องใช้เวลาระบายสินค้า 3-6 เดือน
- ผู้ประกอบการ 6% ต้องใช้เวลาระบายสินค้า 6-9 เดือน
สาเหตุที่สินค้าคงคลังสูงกว่าระดับที่เหมาะสม มาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- คำสั่งซื้อน้อยกว่าที่คาด (66%)
- ผลิตไว้ล่วงหน้าเพราะคาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น (17%)
- คาดว่าคำสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้น (11%)
- มีอุปสรรคในการขนส่ง (6%)
สินค้าราคาสูงเริ่มกระทบกำลังซื้อ
ขณะที่ยอดขายสินค้าทุกประเภทมีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายชะลอลงของผู้มีรายได้ระดับปานกลาง สะท้อนจาก สินค้าพรีเมียมลดลง อาทิ อาหารทะเล ผลไม้นำเข้า หากจำแนกตามประเภท พบว่า
-
สินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มใหญ่สุดสัดส่วน 34% มียอดขายลดลงไม่เกิน 10%
-
สินค้าพรีเมียม สัดส่วนใหญ่สุดที่ 29% มียอดขายลดลง 11-20%
- วัสดุก่อสร้าง กลุ่มใหญ่สุดสัดส่วน 38% มียอดขายลดลงไม่เกิน 10%
‘อีสาน’ แชมป์ฟื้นตัวช้า
ดร.ฉัตรชัย กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจในแต่ละภูมิภาคไม่เท่ากัน และการฟื้นตัวมักจะกระจุกอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค FMCG และร้านค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง
สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคอีสานที่เติบโตลดลงต่อเนื่อง อาทิ ก่อนเกิดโควิด GRP โตเฉลี่ย 2.8% แต่ช่วงตั้งแต่เกิดโควิดเป็นต้นมา GRP โตเฉลี่ย 2.2%
โดยวิกฤตเศรษฐกิจล่าสุด (โควิด) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของอีสานขยายตัวลดลงชัดเจน บางธุรกิจชะลอตัวลงอีกด้วย
ค้าปลีกปรับเป้าโต 2-5%
ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ประเมิน ธุรกิจค้าปลีกและบริการจะเติบโต 2-5% จากคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปีไว้ว่า ธุรกิจค้าปลีกและบริการ จะมีมูลค่า 4.4 ล้านล้านบาท เติบโตในกรอบ 3-7%
ดร.ฉัตรชัยกล่าวว่า ขณะที่กลุ่ม Store-base retailing จะกลับมามีมูลค่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ส่วน Non-store retailing เติบโตต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมปี 2567 ค่อยฟื้นตัวเป็นไปแบบช้า ๆ