ไล่ไม่ได้จับไม่ทัน "โกงเงินออนไลน์"

ไล่ไม่ได้จับไม่ทัน
นั่งกันไม่ติด เมื่อการหลอกล้วงเงินในโลกออนไลน์ ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยที่หน่วยงานกำกับดูแลทำอะไรไม่ได้

เมื่อมิจฉาชีพ สวมรอยหลอกประชาชนโอนเงินในโลกออนไลน์ จับเท่าไหร่ก็จับได้ไม่หมด ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั่งอยู่เฉยต่อไปไม่ได้  ตัดสินใจ ออกกฎเกณฑ์ใหม่ ป้องกันการถูกหลอกลวงทางการเงินที่พบมากที่สุดผ่านโมบายแบงกิ้ง

โดยดูจากสถิติความเสียหายจากมิจฉาชีพ สวมรอยหลอกโอนเงิน ผ่านช่องทางโมบายแบงก์กิ้ง ปีที่ผ่านมา 2565 เกิดขึ้นกว่า 5 พันรายการ คิดเป็นเงินมากกว่า 511 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงความเสียหายแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

เพราะแนวโน้มการโกงดังกล่าวเพิ่มขึ้น และมิจฉาชีพก็เปลี่ยนวิธีการใหม่มาเรื่อยๆ ทำให้สถาบันการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงลูกค้าเสียหาย จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ทำให้ ธปท.ออกกฎเกณฑ์ใหม่ ปิดช่องการโกงของมิจฉาชีพ

มาตรการกฎเหล็กที่ ธปท. มี 3 แนวทาง แบ่งเป็นมาตรการป้องกัน, มาตรการตรวจจับและติดตาม และมาตรการตอบสนองรับมือ เพื่อปิดช่องโหว่ปิดทางไม่ให้ลูกค้าถูกหลอกตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

โดยกฎเหล็กที่สำคัญ เช่น สถาบันการเงินทุกแห่ง งดส่งลิงก์ผ่าน ข้อความสั้นหรือ เอสเอ็มเอส และ อีเมล  ยกเว้น เจ้าของบัญชี เป็นผู้ร้องขอ เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่ได้ร้องขอ รู้ได้ทันทีว่าต่อไปนี้ได้รับลิงก์ดังกล่าวถูกหลอกล้วงเงินแน่นอน อย่าได้ไปยุ่ไปกดลิงก์ให้ลบทิ้งทันที

นอกจากนี้ ธปท.กำหนดให้ สถาบันการเงิน ปรับระบบยืนยันตัวตนด้วยระบบไบโอเมตตริก เพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง จากเดิม เวลาจะโอนเงิน ผู้ใช้บริการทางการเงิน ต้องกดรหัสยืนยันตัวตนแค่นั้น แต่ต่อไป หากโอนเงินครั้งละ 5 หมื่นขึ้นไป หรือโอนยอดรวมเกิน 2 แสนบาท หรือแจ้งเปลี่ยนแปลงวงเงินโอนต่อวัน  แอปพลิเคชั่น จะขอให้ผู้ใช้ สแกนใบหน้า ว่าตรงกับที่บันทึกเอาไว้หรือไม่ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพสวมรอย

ขณะเดียวกัน ยังให้ธนาคารพาณิชย์ ตอบสนองแก้ปัญหาให้ผู้เสียหายที่เป็นลูกค้าอย่างรวดเร็ว สถาบันการเงินต้องตั้งผู้รับผิดชอบ และช่องทางรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ลูกค้าที่ถูกหลอกโอนเงินต้องสามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ทันที ไม่ใช่คุยกับหุ่นยนต์ตอบไรไม่ได้ช่วยอะไรไม่ทันเหมือนช่วงที่ผ่านมา

ส่วนเยาวชน อายุ ไม่เกิน 15 ปี จะโอนเงินต่อวันได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ลดโอกาสขายบัญชีม้าให้มิจฉาชีพ ระบบนี้จะทยอยใช้ตั้งแต่เดือนนี้ แล้วทำให้เสร็จภายใน เดือนมิ.ย. 2565

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังร่วมมือกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (ปปง.) ตรวจจับ และติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือ ต้องสงสัย แบบ near real-time ให้ระงับธุรกรรมที่ผิดปกติได้ทันที ภายในเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามาตรการที่ออกมา เหมือนวัวหายแล้วล้อมคอก แล้วล้อมได้ช้ามากๆๆ รวมถึงยังต้องดูว่าล้อมคอกแล้วจะได้ผลหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดความเสียหาย เหยื่อก็ไม่ได้รับเงินคืนทั้งหมดทุกกรณี ต้องการมีการตรวจสอบเวลานานกว่าจะคืนเงินได้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินจะดูแลลูกค้าได้ดีกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้

นอกจากนี้ การอายัดบัญชีที่รวดเร็วขึ้น จากเดิมกว่าจะดำเนินการนานถึง 48 ชั่วโมง แต่จะทันบัญชีม้าที่โอนข้ามประเทศในเสี้ยวนาทีได้หรือไม่ก็เป็นความท้าทาย

หรือ กรณีที่มีการเพิ่มการโอนเกิน 5 หมื่น ต้องสแกนใบหน้า บัญชีม้าก็ยังมีทางเลี่ยงโอนเงิน 49,999 บาท ทำให้ระบบพิสูจน์ตัวตนแบบสแกนหน้าก็อาจใช้ไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่ามาตรการที่ออกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้สิ้นสาก

ล่าสุด  พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีผลแล้วเมื่อ17 มี.ค. 2566 เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งการทำผิด โดนโทษสูงสุดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษรุนแรงในระดับที่รัฐบาลมั่นใจว่า แก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ และปัญหาอาชกรรมทางออนไลน์ลดลง ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารระงับบัญชีม้าได้ทันที

ธปท. เองก็มั่นใจว่า พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาภัยทางการเงินได้อย่างตรงจุด และเมื่อผนวกกับชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท. ที่จะยกระดับการป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนองและรับมือต่อภัยการเงินในภาคการธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว จะช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้ครบวงจรยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ธปท. เองก็ยังต้องเร่งให้สถาบันการเงินดำเนินการตาม พ.ร.ก. และมาตรการของ ธปท. ให้แล้วเสร็จตามกำหนด และยังต้องวิ่งไล่ตามว่าสามารถคุมการหลอกลวงทางการเงินในโลกออนไลน์หรือไม่

ด้านธนาคารพาณิชย์ มองว่า พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การจัดการภัยทางการเงินเมีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้กระทำผิด รวมทั้งผู้เปิดบัญชีม้า และผู้ให้การสนับสนุน รวมถึงทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ตำรวจ และ ธนาคาร ให้สามารถแชร์ข้อมูลผู้กระทำผิดข้ามธนาคารได้โดยอัตโนมัติ และสามารถบล๊อกบัญชีที่ต้องสงสัยชั่วคราวได้ทันที โดยไม่ต้องรอแจ้งความ เพื่อลดบัญชีม้าที่มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการเอาเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายได้

อย่างไรก็ตาม การโกงทางการเงินออนไลน์ย่อมวิ่งหนีหลบกฎหมายแน่นอน ปัญหาสำคัญ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความสำคัญในการดูแลช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่เข้มข้นกว่าที่ผ่าน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถล้อมคอกแก้การหลอกลวงเงินทางออนไลน์ได้เลย

TAGS: #มิจฉาชีพ #โกงเงินออนไลน์ #บัญชีม้า #ซิมม้า