‘แอร์เอเชีย’ กางปีกเต็มกำลัง ปี’67 เพิ่ม A321 อีก4ลำ รอเปิดรูทออสเตรเลีย-ตะวันออกกลาง แผน 10 ปีมีฝูงบิน 100 ลำ

‘แอร์เอเชีย’ กางปีกเต็มกำลัง ปี’67 เพิ่ม A321 อีก4ลำ รอเปิดรูทออสเตรเลีย-ตะวันออกกลาง แผน 10 ปีมีฝูงบิน 100 ลำ
แอร์เอเชีย เทกออฟปี 2567 ด้วยแผนธุรกิจเพิ่มฝูงบินใหม่อีก 4 ลำ พร้อมวางอนาคตขยายเส้นทางบินระยะไกลในออสเตรเลีย-ตะวันออกกลาง รับอุตฯวีซ่าพรีไทย-จีน ปัจจัยบวกหนุนคนรุ่นใหม่เดินทาง

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย และบริษัท.เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) (AAV) เปิดเผยว่าในปี 2567 ไทยแอร์เอเชีย พร้อมดำเนินธุรกิจสายการบินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อไปสู่เป้าหมาย การเป็นผู้นำเครือข่ายผู้ให้บริการสายบินต้นทุนประหยัดในระดับโลกเป็นรายแรก (World First Low-cost Network Carrier)  ด้วยยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค (Reginal Hub Strategy) จากเครือข่ายธุรกิจสายการบินแอร์เอเชียที่กระจายอยู่ในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์  ในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับการไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จะประกอบไปด้วยการเปิดตัวในเส้นทางบินใหม่ที่มาพร้อมกับฝูงบินของไทยแอร์เอเชีย ให้บริการด้วยเครื่องบิน A321NEO, A321LR, A321XLR, และ A330NEO  ซึ่งปีนี้บริษัทฯ มีแผนนำแอร์บัส 321 อีก 4 ลำใหม่มีระยะการบินได้นานราว 6 ชั่วโมง มาให้บริการเพิ่มเพื่อรองรับการเปิดเส้นบินในระยะไกลเพิ่มขึ้น คือ เนปาล และเส้นทาง ไต้หวัน-ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเตรียมเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-ไทเป ในวันที่ 18 มี.ค.นี้  

จากปัจจุบันไทยแอร์เอเชียมีเส้นทางบินในระยะเวลา 6 ชั่วโมงแล้ว อาทิ กรุงเทพฯ-ฟูกูโอกะ, กรุงเทพฯ-โอกินาวา รวมถึงเส้นทางบินจากประเทศไทยไปยังเมืองต่างๆ ในอินเดีย และ ประเทศจีน เป็นต้น จากแผนดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินเพิ่มเป็น 60 ลำจากในปี 2566 อยู่ 54 ลำ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังวางแผนนำเครื่องบิน A321 XLR เพื่อรองรับความต้องการทั้งน้ำหนักบรรทุกและระยะทางในเส้นทางการบินได้ไกลถึง 8,700 กิโลเมตร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฝูงบินสายการบินแอร์เอชีย ให้สามารถเดินทางไปสู่ทุกเส้นทางบินทั่วโลกได้  พร้อมวางเป้าหมายภายใน 2-3 ปีหน้าหรือราวปี 2570 จะมีฝุงบินใหม่เพิ่มอีก 20 ลำ

“จากเครือข่ายฮับทางการบินของแอร์เอเชียที่มีอยู่จะเป็นจุดเชื่อมโยงการบินสำคัญในแต่ละจุดหมายปลายทาง สำหรับการหยุดพัก หรือ วัน สต๊อป ก่อนบินไปต่อภูมิภาคอื่นอย่างตะวันออกกลาง หรือ ยุโรปได้ด้วยเครื่องบินไทป์เดียวกันได้ในอนาคตด้วยยุทธศาสตร์เน็ตเวิร์ค แคเรียเออร์ของแอร์เอเชีย” สันติสุข กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการให้บริการศูนย์กลางสนามบินทั้ง 2 แห่ง (Dual Hub) ดอนเมือง และ สุวรรณภูมิ ที่อย่างหลังหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลมีแผนพัฒนารันเวย์เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ ซึ่งไทยแอร์เอเชีย มีแผนเพิ่มเที่ยวบินใหม่ในเส้นทางต่างๆ ทั้งในสนามบินเชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายเส้นทางการบินระยะไกลในอนาคตด้วย   

สันติสุข กล่าวต่อถึง ภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจการบินในปี 2567 คาดมีแนวโน้มเป็นบวกจากหลายปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการวีซ่าฟรี (Visa Free)ไทย-จีน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศมีการเติบโตดี ส่งอานิสงส์ถึงธุรกิจสายการบินที่รองรับเส้นทางการเดินทางทั้งในไทยและจีน

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ ในปัจจุบันที่นิยมเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ในเมืองต่างๆในจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหญ่ ยังสนใจในเส้นทางท่องเที่ยวเดิมอย่างเมืองคุนหมิง เป็นต้น ส่งผลให้ปัจจุบัน ผู้ให้บริการตัวแทนท่องเที่ยว หรือ ทัวร์ เอเยนซี ต่างเริ่มนำบริการท่องเที่ยวประเทศจีนมาบรรจุในแผนแพ็คเกจเพื่อให้บริการการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ มากขึ้น

พร้อมกล่าวต่อว่า ในสัปดาห์หน้า คาดว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและกำกับดูแลธุรกิจการบิน จะพิจารณาอัตราใหม่โครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสายการบิน ด้วยถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยต้นทุนการให้บริการของผู้ประกอบการธุรกิจที่มีผลต่อราคาบัตรโดยสารเครื่องบินในภาพรวม ซึ่งหากเห็นชอบคาดจะมีการนำเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในลำดับต่อไป   

ขณะที่อัตราค่าบัตรโดยสารเครื่องบินในปัจจุบัน มีโครงสร้างราคาจากต้นทุนหลายส่วนประกอบกัน ทั้งภาษีสรรพสามิต ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ ซึ่งเป็นหลักการปกติของการทำธุรกิจทั่วไปที่ผู้ประกอบการต้องนำขายในราคาที่สูงกว่าต้นทุน ซึ่งจากกระแสที่มีผู้บริโภคระบุถึงค่าบัตรโดยสารเครื่องบินมีราคาสูงในขณะนี้ อาจต้องพิจารณาในหลายด้านประกอบกันว่าเป็นการจองบัตรฯแบบกระชั้นชิดด้วยหรือไม่ ซึ่งหากต้องการบัตรโดยสารในราคาดี ผู้โดยสารอาจจำเป็นต้องวางแผนการเดินทางเพื่อจองบัตรฯ ล่วงหน้า เป็นต้น

เพิ่มฝูงบิน 100 ลำใน 10 ปี

ด้าน ธันย์สิตา อัครฤทธิรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนเตรียมแผนจัดหาฝูงบินใหม่ต่อเนื่องราว 5 ลำต่อปี โดยภายในปี 10 ปีนับจากนี้ ไทยแอร์เอเชีย คาดจะมีฝูงบินเพื่อให้บริการทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 100 ลำ จากแผนในปี2567 จะมีทั้งสิ้น 60 ลำ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การไปสู่เป้าหมาย World First Low-cost Network Carrier เพื่อรองรับการให้บริการเส้นทางการบินจุดหมายปลายทางใหม่ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย และ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่มีแผนเตรียมเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้  

ขณะที่การทำตลาดท้องถิ่นในประเทศไทยในปี2567  บริษัทฯ มองเห็นโอกาสจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังไทยจากการคาดการณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางเป้าหมายไว้ที่ 35 ล้านคน และสร้างรายได้เข้ามาไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยคาด 5 อันดับแรกนักเดินทางต่างประเทศ คือ 1. จีน ราว 7.5-8.5 ล้านคน 2. มาเลเซีย 4.5-5 ล้านคน 3.รัสเซีย 2.2 ล้านคน 3.เกาหลีใต้ 1.8 ล้านคน และ5.อินเดีย 1.7 ล้านคน โดยบริษัทฯ จะมุ่งให้ความสำคัญใน 3 ตลาดหลัก คือ จีน, มาเลเซีย และ อินเดีย

ทั้งนี้จากแผนดังกล่าว บริษัทฯ คาดว่าในปี2567 จะมีอัตราการเติบโตรายได้ราว 15-20%  โดยมีผลดำเนินการไตรมาส4 ปี 2566 อยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ 466 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดสายการบินท้องถิ่นมากสุดอยู่ที่ 39% (เดือนม.ค.2567)