Element72 ธุรกิจค้าปลีกสายเอาต์ดอร์ ที่มีอายุร่วม 24 ปีในปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่แนวทางการทำตลาดสินค้า ‘เออร์เบิน ไลฟ์สไตล์’ ที่เชื่อว่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนยุคใหม่ นับจากนี้ไป
The Better ได้มีโอกาสพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ แบบเอ็กซคลูซีฟกับ ‘ชาร์ลส ปิณฑานนท์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิลีเม้นท์ 72 จำกัด ผู้ทำตลาดสินค้าเออร์เบิน ไลฟ์สไตล์ (Urban Lifestyle) ผู้บุกเบิกตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ทั้งกลุ่มเสื้อผ้า อุปกรณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง แคมปิง ฯลฯ เป็นรายแรก ๆ ของเมืองไทยมานานกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา
ต่อความสำเร็จของธุรกิจ Element72 ที่เดินทางมาถึงในวันนี้ ‘ชาร์ลส’ บอกกับเราว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและก็ไม่ยาก เพียงแต่ต้องคิดให้ออกมองเกมการตลาดในแต่ละยุค (ปัจจุบัน)ให้ขาดว่า
‘ผู้บริโภคในตลาดท้องถิ่นอย่างประเทศไทย ต้องการอะไร? และ สิ่งไหน? มีความ ‘เหมาะสม’ กับลูกค้าได้มากที่สุด’
จากนั้นนำมาปรับแนวให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย ก่อนเปิดโชว์ใหญ่การทำตลาดเพื่อสร้างการจดจำแบรนด์และครองใจลูกค้า เอาไว้ให้ได้
ด้วยหลักการทำธุรกิจดังกล่าวที่ ‘ชาร์ล’ เชื่อมั่นมาโดยตลอดได้สะท้อนถึงความสำเร็จในปี 2565 ที่ผ่านมา จากรายได้ของ Elemement 72 กว่า 1,200 ล้านบาท ถือเป็นจุดพีคของการทำธุรกิจตลอด 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะรองเท้าแบรนด์คีน ‘KEEN’ ที่บริษัทเป็นผู้ทำตลาดรายเดียวในไทย สามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดกว่า 500,000 คู่ เรียกได้ว่าขายเก่งมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ทำตลาดในช่วงเดียวกัน
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั้งไทยและทั่วโลกชะลอตัว จากหลายปัจจัยลบ ทั้งเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการเปิดประเทศต่างๆ ได้ไม่เต็มที่นักจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ล็อคทั่วโลกมานานร่วม 3 ปี
โดยสิ่งที่ทำให้ ‘Element72’ ยังเป็นผู้รอดจากสถานการณ์เหล่านั้น รวมถึงวิธีการทำตลาดสินค้าอุปกรณ์เอาต์ดอร์ แบรน์จากต่างประเทศที่น้อยคนจะรู้จักจนกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ จึงเป็นสิ่งน่าสนใจเป็นอย่างมาก ที่เราอยากให้ ‘ชาร์ส’ ถ่ายทอดให้ฟัง
หลงใหลสิ่งไหน เริ่มจากสิ่งนั้น
ชาร์ลส ย้อนไปถึงการทำธุรกิจครั้งแรกของเขาในวัยราวๆ 25 ปี เริ่มจากความสนใจในกิจกรรมกีฬาทางน้ำประเภทต่าง ๆ จนต้องไปขลุกอยู่ที่ ‘บึงตะโก้’ จังหวัดสมุทรปราการ บ่อยครั้ง
จนมองเห็นเป็นโอกาสในการทำธุรกิจแรกๆ คือ อุปกรณ์ดำน้ำ เสื้อผ้ากีฬาทางน้ำ เว็ทสูท (Wet Suit) พร้อมติดต่อไปยังต้นทางแบรนด์สินค้าในสหรัฐอเมริกา เพื่อขอนำสินค้าเข้ามาทำตลาดในไทย ราวๆ 4-5 แบรนด์ก่อนในช่วงนั้น
ขณะที่ความสนุกและความท้าทายในการทำธุรกิจของเขา ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อ ‘ชาร์ลส’ ได้มีโอกาสไปเจอกับแว่นตากันแดดยี่ห้อระดับโลกอย่างโอคลีย์ (Oakley) ที่โด่งดังมากในต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในไทยมากนัก ในเวลานั้น
เขาสนใจมาก ที่จะนำเข้าแบรนด์โอคลีย์มาทำตลาดในไทย ด้วยการลาก ’แพสชัน’ ของตัวเองมาร่วมสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จักและอยู่ในใจผู้บริโภคให้ได้ ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดแว่นกันแดดที่มีเบอร์ใหญ่ระดับโลกอย่างเรย์แบน ‘Ray Ban’ ที่ครองตลาดมาเนิ่นนาน
แน่นอนอีกว่า เขาทำสำเร็จทั้งการสร้างแบรนด์และยอดขายแว่นตากันแดด Oakley ให้เป็นที่รู้จักจนกลายเป็น ‘ของมันต้องมี’ ในกลุ่มลูกค้าสายเอาต์ดอร์ ในยุคนั้น
“แว่นตาโอคลีย์มีศักยภาพในตลาดเมืองไทยแน่ๆ แต่ดีไซน์ในยุคแรกๆ มันยังไม่ใช่ ด้วยเป็นรูปทรงแว่นตาที่รับกับรูปหน้าของคนตะวันตกมากกว่า เราเลยแนะนำต้นทางให้ลองทำดีไซน์ในแบบเอเชียฟิต จนได้แว่นตารุ่นที่เหมาะสมกับตลาดเอเชียออกมา พร้อมเป็นตัวแทนขายมากว่า 34 ปี กระทั่งได้รับความไว้ใจจนได้เปิดร้านสาขาแบรนด์โอคลีย์ ที่ไทยเป็นแห่งแรกในเอเชีย และแห่งที่สองใน กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย”
โดยกลยุทธ์การทำตลาดแว่นตาโอคลีย์ในเวลานั้น จะนำแบรนด์ไปทำตลาดร่วมกัน (Cross Marketing) กับสินค้าแบรนด์สนุกๆ หรือ ในกลุ่มสินค้าเครื่องแต่งกาย (Out Wear) แบรนด์ต่างๆ อย่างรองเท้า เสื้อผ้า เพื่อจับคู่ผสม เป็น Total Lookร่วมกัน
จาก Day1 ของแบรนด์โอคลีย์ ในตลาดไทย ที่ใครต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ขายไม่ได้แน่ๆ’ ด้วยสินค้ามีราคาสูงมากกว่าคู่แข่งอย่างเรย์แบนในยุคนั้น แถมดีไซน์ก็ยังไม่เข้ากับรูปหน้าคนเอเชียไปอีก
เรียกได้ว่า ถ้าเอาไปเสนอวางขายที่ร้านไหน จะต้องถูกเลือกปฏิเสธให้เป็นผู้ที่ผิดหวัง แทบทุกครั้ง!!
แต่ด้วย ‘แพสชัน’ ของชาร์ลส์ ที่มีล้นอยู่ในตัวบวกกับใช้เทคนิคการขายด้าน ‘คุณค่า’ ของแบรนด์มาใช้สื่อสารการตลาดให้เห็น จนทำให้กลายเป็นสินค้าที่ก้าวข้ามจากเดย์วัน และมาอยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จในตลาดมาเนิ่นนานได้
ก่อนที่ Luxottica กลุ่มธุรกิจแบรนด์แว่นตารายใหญ่ระดับโลก ได้เข้ามาซื้อแบรนด์โอคลีย์ไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ทำให้ Element72 ต้องยุติสิทธิการทำตลาดแว่นตา Oakley ในไทยไปโดยปริยาย
จากรองเท้าขี้เหร่ สู่ยอดขาย5 แสนคู่
ชาร์ลส์ เล่าต่อถึงความสนุกผ่านเคสการสร้างแบรนด์สินค้ารองเท้ายี่ห้อคีน (KEEN) อีกหนึ่งแบรนด์ ที่มีเรื่องราว ‘Shoes 1’ ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน จากดีไซน์ของตัวรองเท้าเองที่หลายคนล้วนตั้งคำถามเดียวกันเมื่อเห็นโฉมในวันแรกว่า “จะขายได้จริงหรือ?”
“ชูส์วันของคีน เรียกว่าเป็น Totally Failed จากตัวรองเท้าในรุ่นใช้เชือกถักที่มีดีไซน์น้อยกว่ารุ่นใหม่ๆในปัจจุบัน ด้วยเป็นรองเท้าแนวแอดเวนเจอร์จากการออกแบบของเจ้าของแบรนด์ ซึ่งเป็นนักปืนเขา ได้เอาคอนเซปต์เชือกปืนเขามาถักสานเป็นรองเท้าออกมา อันนี้คือเรื่องราวของคีน ซึ่งตอนที่เราเอารองเท้ายี่ห้อนี้เข้ามาเสนอให้กับห้างฯในไทย เขายังขำเราเลยว่าจะขายได้จริงหรือ” ชาร์ลส์ ย้อนภาพแรกของการทำตลาดคีนในไทย ให้ฟัง
ทว่าด้วยความเป็นนักขุนแบรนด์ตัวยง ‘ชาร์ส’ บอกว่า จำเป็นจะต้องให้เวลากับแบรนด์ก่อนค่อยๆหา ‘ร่อง’ ของมันให้เจอจนกว่าจะถูกจังหวะ
จาก ‘ชูส์วัน’ แรกของรองเท้าคีนที่มีหน้าตาหน้าเกลียด ที่แม้ว่าจะอยู่เฉยๆ แล้วจะไม่มีใครรักก็ตาม แต่สุดท้าย ‘คีน’ ก็สามารถก้าวข้ามสแตนดาร์ดบิวตี ดีไซน์ออกมาได้ด้วย ‘คุณค่า’ ของตัวเองอีกเช่นกัน
ด้วยใครหลายคนที่ได้พบเห็น ภาพแรกของคีน มักถูกตั้งคำถามตลอดเวลาว่ารองเท้าอะไรทำไมหนักจัง? และยังต้องเอามาลงสนามแข่งในตลาดรองเท้าแฟชันในไทยที่มีการแข่งขันสูงอีกด้วย
ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจไม่ใช่น้อย
แต่ ชาร์ส กลับมองเป็น ‘ความท้าทาย’ ในการทำตลาดเจ้ารองเท้าลูกเป็ดขี้เหร่อย่าง ‘คีน’ ด้วยกลยุทธ์นำจุดเด่นของบริษัทที่แข็งแกร่งในไลน์สินค้าเอาต์ดอร์ที่ปัจจุบันทรานส์ฟอร์มสู่การเป็น เออร์เบินไลฟ์สไตล์ มาต่อยอดกับฟีเจอร์รองเท้าคีน ให้มีความเป็นไฮบริด (Hybrid)
ด้วยฟังก์ชันรองเท้าใช้ทำกิจกรรรมสายลุยทั้งทางน้ำและบก พร้อมใส่ความเป็นแฟชันเข้าไปด้วย เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยให้ได้มากที่สุด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าคนไทยที่เปิดใจรับทุกกระแสแฟชันจากทั่วโลก ได้ไม่ยาก
“ตอนสร้างแบรนด์คีน เราเริ่มต้นจากหา Niche ตลาดเฉพาะในกลุ่มจักรยานก่อน พอเจอเราก็วางตำแหน่งให้คีนเป็นรองเท้าแซนดอลคู่เดียวที่นำไปใช้ขี่จักรยาน ที่ให้ทั้งความเป็นแฟชัน มีฟีเจอร์ครบ ขณะที่รูปทรงรองเท้าก็มีหน้ากว้างเหมาะกับหน้าเท้าของคนไทย ต่างกับรองเท้าที่ใช้ขี่จักรยานแบรนด์อื่นในตลาดที่มีรูปทรงรองเท้าอวกาศ”
เมื่อ ‘ชาร์ลส’ หาร่องจังหวะการทำตลาดแบรนด์คีนเจอแล้ว และต่อยอดไปสู่การเป็นรองเท้าสายไฮบริดสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยแบรนด์รองเท้าคีน ยังสามารถใส่เล่นเซิร์ฟ เดินเทรลเบา ๆ หรือ ใส่เที่ยวเล่นวันสบายๆ ได้อีกด้วย
จากนั้นไม่นาน ‘KEEN’ ก็เริ่มมี Shoes 2, Shoes 3 ตามออกมา จนถึงวันนี้กลายมาแบรนด์ที่ยูนีค มีเอกลักษณ์เฉพาะด้านดีไซน์ ในความเป็นรองเท้าสานถัก ที่ใครเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นยี่ห้อคีน และฮิตเอามากๆ อีกด้วย
“ทุกอย่างเหมือนกับรถโฟลค์เต่า อย่างตอนแรกที่ทำรถออกมาคนมองว่าหน้าตาน่าเกลียดแต่พอมาถึงตอนนี้กลับเป็นรถที่น่ารักที่สุด รองเท้าคีนก็เหมือนกันเราก็ทำออกมาให้มีสตอรี วางตำแหน่งเป็นรองเท้าไลฟ์สไตล์ มีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ใส่เที่ยวได้ มีความเป็นแฟชัน เป็นไฮบริดคือใส่ไปทำงานได้อีกด้วย โดยสื่อสารการตลากผ่านคอลเล็กชันต่างๆใน Lookbook มีการมิกซ์แอนด์แมทช์ไอเทมแบรนด์สินค้าต่างๆ ของ Element72 ที่ทำตลาดในปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน”
จนมาถึงในปี 2565 แบรนด์รองเท้า KEEN สามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 500,000 คู่เรียกว่าได้ ‘คีน’ ในตลาดประเทศไทยทุบสถิติการขายได้มากที่สุดในโลก ในปีที่ผ่านมา
ถือเป็นเรื่องราวความสำเร็จในแบบเฉพาะของคีน จนทำให้ หลายประเทศในตลาดเอเชีย อย่างญี่ปุ่น เกาหลี ต้องหันมามองกระแสนี้ที่เกิดขึ้นในไทย และมีการนำไปปรับใช้ทำตลาดในรูปแบบเดียวกันตามมา
นัก'ขุน'แบรนด์
ชาร์ลส เล่าต่อถึงวิธีคิดในการนำแต่ละแบรนด์สินค้าเข้ามาทำตลาดของ Element 72 ล้วนมาจาก ‘แพสชัน’ ของตัวเองเป็นหลัก เมื่อเกิดความหลงใหลหนักมากๆแล้ว ก็รู้สึกอยากจะฟูมฟัก ดูแล หรือที่เรียกว่า ‘ขุนแบรนด์’ เพื่อสร้าง แบรนด์เหล่านั้นให้เติบโตแข็งแรงไปด้วยกัน
โดยชาร์ลส จะเลือกแบรนด์ที่มีจิตวิญญาณเจ้าของในการพัฒนาสินค้าอยู่ในนั้น ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญผลักดันให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งด้วยตัวเอง เมื่อนำมาทำตลาด
อย่างไรก็ตาม การที่ธุรกิจจะสร้างแบรนด์จนให้เป็นที่รู้จักได้นั้น จะไม่ใช่แค่การนั่งบริหารเพื่อเปิดดูตัวเลขยอดขายจากสมุดบัญชี ด้วยการทำตลาดต่าง ๆ จะต้องใช้ ‘กลยุทธ์’ ที่แม้ว่าจะได้แบรนด์ต่างประเทศที่ดีที่สุดเข้ามาทำตลาด แต่ก็ยังต้องนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับผู้บริโภคคนไทยในตลาด เช่นกัน
หาความเชื่อมโยงสร้าง ‘แบรนด์ สตอรี’
ชาร์ลส บอกว่าในปีที่ผ่านมา Element72 มีการเติบโตสูงในกลุ่มแบรนด์สินค้ากิจกรรมเอาต์ดอร์ แคมปิง ฯลฯ อาทิ Stanley,Yeti แบรนด์แก้วน้ำขวัญใจสายแอดเวนเจอร์มาช้านาน ที่ปัจจุบันเข้าไปครองใจในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่แล้วเช่นกัน
ด้วยกลยุทธ์การนำแบรนด์สินค้าไปทำตลาดร่วม (Collaboration) กับแบรนด์สินค้าอื่น ๆ ทั้งใน และ นอกกลุ่มบริษัท อาทิ กลุ่มแก้วมัคกับผลิตภัณฑ์แบรนด์ช้าง เพื่อสร้างเรื่องราวร่วมกัน เป็นต้น
“การหาจุดเชื่อมโยงเรื่องราวระหว่างแบรนด์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการทำตลาดสินค้าที่มาใหม่ให้คนท้องถิ่นได้รู้จัก โดยเราได้คิดต่อไปว่าจะนำแบรนด์เหล่านี้มาทำอะไรใหม่ ๆ ได้บ้าง อย่างการใช้เสน่ห์ของประวัติสินค้าที่ยาวนานของแต่ละแบรนด์มาสื่อสารกับลูกค้าคนไทย ด้วยการแนะนำความคลาสสิคของไอเทมสินค้าในตลาดเอาต์ดอร์ ซึ่งก็จะตรงกับจริตของลูกค้ากลุ่มนี้” ชาร์ลส ขยายภาพการสร้างแบรนด์ในตลาดให้ชัดขึ้น
‘เทรนด์’ ไหนไปต่อ รู้ในบ่ายสามโมง
ชาร์ลส เล่าอีกว่าความสำเร็จการทำตลาดของ Element72 ด้วยยอดขายมากกว่าพันสองร้อยล้านบาท ในปีที่ผ่านมานั้น ยังมาจากปัจจัยแวดล้อมผู้คนไม่สามารถออกเดินทางไปนอกประเทศ จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีก่อน
ทำให้เกิดความต้องการเดินทางระยะใกล้ ๆ ภายในประเทศ จนมีกระแสการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แคมปิง เกิดขึ้นตามมา ซึ่งส่งผลดีกับยอดขายสินค้าประเภทต่างๆที่บริษัทถืออยู่ราว 28 แบรนด์ในปัจจุบัน
“อย่างไรก็ตาม บริษัทเองก็ประสบปัญหาเหมือนกับร้านค้าปลีกรายอื่น ๆ ที่ต้องปิดสาขาหน้าร้านในทันที ตามคำสั่งของรัฐบาลที่ต้องการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในช่วงนั้น”
และเมื่อหน้าร้านขายของไม่ได้ บริษัทฯต้องนำสินค้ารายการต่างๆที่มีอยู่ในคลังสินค้า มาทบทวนว่าจะทำตลาดอย่างไรในช่วงเวลานั้น สอดคล้องกับกระแสแคมปิงที่มาแรงพอดี ช่วยให้แบรนด์สินค้าที่มีอยู่เติบโตก้าวกระโดดตามไปด้วย
ชาร์ลส บอกว่า การไลฟ์ขายสินค้าของ Element 72 เกิดขึ้นในช่วงปิดประเทศ พร้อมได้ประสบการณ์ ความรู้ เทคนิคการขายต่าง ๆ มาจากตัวผู้ชม ซึ่งเป็นลูกค้าที่เฝ้าดูหน้าเพจบริษัทฯ เพื่อรอกดสั่งซื้อสินค้า ที่กลายมาเป็นผู้แนะนำการขายของออนไลน์ ให้อีกด้วย
เรียกว่าในช่วงเวลานั้น บริษัทมีการเติบโตธุรกิจจากช่องทางขายออนไลน์ ที่ได้จากการเรียนรู้ใหม่ๆ ไปพร้อมกัน
“ช่วงนั้นเราไลฟ์ขายสินค้ายาวถึงวันอาทิตย์ หยุดทุกวันพุธ ที่ทำแบบนี้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แม้ว่ายอดขายที่ได้ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ก็ยังมีรายได้เพื่อให้พนักงานทุกคนอยู่ได้ พอดีกับที่ตั้งบริษัทมีโกดังสินค้าอยู่ด้วย ก็ช่วยให้มีความสะดวกในการเบิกจ่ายของได้ทันที ไม่ต้องเดินทาง พอมีคำสั่งซื้อเข้ามา ก็สามารถแพคส่งของได้เลย”
จากวิกฤตในช่วงนี้ ยังได้เปลี่ยนสู่จุดพลิกโอกาสครั้งใหม่ของ Element 72 ด้วยสามารถสร้างการเติบโตธุรกิจได้อย่างสูงในช่วงโควิด และนำไปสู่การสร้างโชว์รูม Outdoor Botanica By Element72 เกิดขึ้นมาพร้อมรวบรวม สินค้า ทั้ง 28 แบรนด์ มากกว่า 10,000 ชิ้น มาไว้ในที่แห่งนี้ที่แรกและที่เดียว พร้อมจัดให้มีงานแฟร์ 'E-Outside Expo ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ที่ผ่านมาล่าสุด ด้วย
ชาร์ลส กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์การตลาดเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก จากเทคโนโลยีที่สร้างความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์ ผู้ขาย และ ลูกค้า ได้ง่ายขึ้น
อย่างหากเปิดตัวสินค้าในรุ่น/คอลเล็กชันใด ๆ ในช่วงสิบโมงเช้า แล้วรอถึงเวลาราวๆบ่ายสามโมงของวันเดียวกัน เราสามารถรับรู้ได้แล้วว่าเทรนด์นี้จะมาหรือหายไป ถือว่าส่งผลดีกับการทำตลาดในการบริหารจัดการสินค้า ได้เป็นอย่างดี
พร้อมเสริมอีกว่า แม้แบรนด์นี้จะติดตลาดไปแล้ว แต่ก็สามารถดับลงได้ในเวลาช่วงสั้นๆ เช่นกัน ดังนั้นทีมเวิร์ค หรือ หลังบ้านจึงสำคัญมากต่อการมอนิเตอร์สิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบกับแบรนด์ที่ทำตลาด ในปัจจุบัน
เติบโตด้วยความระมัดระวัง
ปัจจุบัน TOP3 แบรนด์สินค้ายอดนิยมของ Element72 ในปัจจุบัน อันดับแรกแน่นอนว่า คือ KEEN มีสัดส่วนมากกว่า 68% รองลงมาในสองอันดับ คือ Stanley และ Yeti รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ที่เหลือ รวมกันราว 32%
ขณะที่แนวทางการทำตลาดจากนี้ไป ชาร์ลส ย้ำถึงการดูแลแบรนด์ที่มีอยู่ให้เติบโตไปอย่างแข็งแรงต่อไปได้นั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่มากกว่าการหาแบรนด์ใหม่ๆมาเติมพอร์ต
ด้วยเวลานี้หลายประเทศเปิดแล้ว คนเดินทางออกนอกประเทศ คนไทยไปญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากขึ้น โอกาสในการทำตลาดสินค้าเอาต์ดอร์ ก็ยากขึ้น
ดังนั้นการเดินไปสู่กลยุทธ์สินค้า ‘เออร์เบิน ไลฟ์สไตล์’ จากการผสมผสานไอเทม สืนค้าเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ให้มาอยู่ในชีวืตประจำวันของผู้คนรุ่นใหม่ได้ใกล้ตัวมากขึ้น น่าจะเป็นคำตอบของ Element72 ในเวลานี้
“ความท้าทาย คือ การคงยอดขายทั้ง 28 แบรนด์ ที่เราเป็นผู้สร้างตลาดไว้ให้ได้ ไปพร้อมกับขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่างนักท่องเที่ยว ในฐานะไทยเป็นเดสติเนชันการเดินทางที่มีจุดขายหลายด้าน ทั้งป่าเขา ชายหาด ความเป็น อีทติง ฮับ และ แฟชัน ช้อปปิง ที่สามมารถดึงทุกแบรนด์จากทั่วโลกมาไว้ได้ที่นี่”
ขณะที่ปัจจุบัน Elememt72 มีหน้าร้านทั้งหมด 59 สาขาในกรุงเทพฯ บนทำเลแนวรถไฟฟ้าไฟฟ้าทั้งหมด หัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ชลบุรี ขอนแก่น และในจังหวัดเมืองรอง โดยแบ่งสัดส่วนลูกค้าคนไทย 60-70% และชาวต่างชาติ 30-40%
พร้อมกล่าวต่อถึงแผนธุรกิจจากนี้ไป Element 72 อาจไม่ได้รุกหนักการขยายสาขาเหมือนเมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่จะใช้กลยุทธ์การยูทิไลซ์ ใช้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุดในช่องทางการขายออนไลน์และออฟไลน์ที่มีอยู่ในรูปแบบออมนิ-ชาแนล
โดยจะระมัดระวังการทำธุรกิจให้รัดกุมมากขึ้น ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้นำเข้าสินค้าแบรนด์จากต่างประเทศ ที่ต้องติดตามหลายปัจจัยนอกเหนือการควบคุม ทั้งต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลาร์สหรัฐอเมริกา การขยายสาขาใหม่ๆของศูนย์การค้าต่างๆในไทย ฯลฯ ที่มีผลต่อการทำธุรกิจแทบทั้งสิ้น
ขณะที่ปัจจุบัน Element 72 มีรายได้จากช่องทางออนไลน์ราว 10-15% ช่องทางออฟไลน์ ผ่านหน้าร้าน เกือบ 60% และที่เหลือไม่เกิน 30% มาจากตัวแทนขาย (ดีลเลอร์)
พร้อมวางเป้าหมายรายได้ในปี 2566 นี้ อยากเห็นตัวเลขยอดขายที่ทรงตัวเท่ากับปี 2565 ที่ผ่านมา
ชาร์ลส์ ทิ้งท้ายว่า “แสงแดด ไม่ได้จะมีตลอดไป เมฆมันเริ่มมาในปีนี้ เรายังต้องพยายามรักษาตลาดไว้ให้ได้และทำให้ดีเหมือนที่ผ่านมา โดยนอกเหนือจากการดูแลแบรนด์แล้ว การบริหารการเงินให้ดี มีทีมงานที่แข็งแรงก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยการแข่งขันในตลาดเวลานี้จะมีคนเก่งคนเดียว ไม่ได้แล้ว”